อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้เพียงเสี้ยววินาที แม้จะอยู่ในบ้าน เพราะความร้อนจากวัตถุความร้อน กระแสไฟฟ้า หรือความเป็นกรดจากสารเคมี ก็สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุและสร้างความเสียหายต่อชีวิตได้ ไม่ว่าจะเพียงแค่ต้มน้ำชงกาแฟดื่ม ทอดปลา ทำกับข้าว เสียบปลั๊กโทรทัศน์ ตั้งแต่บาดแผลเล็กๆน้อยๆ ไปจนถึงขั้นรุนแรง ที่สามารถสร้างแผลเป็น หรือแผลอาจติดเชื้อ ลุกลามจนเป็นปัญหาใหญ่ได้เช่นกัน การได้รับปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างเร่งด่วนและถูกต้อง จะช่วยลดความรุนแรง บรรเทาอาการเจ็บปวด และช่วยให้บาดแผลกลับคืนสภาพเดิมได้เร็วขึ้น
บาดแผลจากความร้อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำร้อนลวก น้ำมันลวก แผลไฟไหม้ ไฟช็อต กรดจากสารเคมีต่างๆ อาการบาดเจ็บจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย ทั้งระยะเวลาที่สัมผัสกับความร้อน ความกว้าง-ลึกของแผล หรือแม้แต่ตำแหน่งของบาดแผล หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลในทันที อาจทำให้แผลเกิดการติดเชื้อ หรือมีภาวะแทรกซ้อนถึงขั้นทุพลภาพ และบางรายก็อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นเรามาดูวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุน้ำร้อนลวก หรือแผลไฟไหม้ เพื่อช่วยเหลือได้ทันและลดความสูญเสียกันดีกว่า
ปฐมพยาบาลน้ําร้อนลวก แผลไฟไหม้
เมื่อโดนไฟไหม้หรือน้ําร้อนลวกปฐมพยาบาลเบื้องต้นจะต้องดูตามระดับบาดแผล
ระดับที่ 1 First degree burn บาดแผลที่มีการทำลายเซลล์หนังกำพร้า ที่เป็นชั้นผิวนอกเท่านั้น หนังชั้นกำพร้าชั้นในยังไม่มีการถูกทำลาย ผิวมีการผลัดเซลล์ขึ้นมาใหม่ เพื่อทดแทนได้ หายได้เร็ว โดยไม่เกิดแผลเป็น ซึ่งแผลไหม้ระดับนี้ มีลักษณะเป็นรอยไหม้ บวมแดงเล็กน้อย ปวดแสบปวดร้อน คัน แต่ไม่มีตุ่มพองน้ำ วิธีการปฐมพยาบาลทำได้ดังนีั
- ให้เปิดน้ำไหลผ่านเพื่อล้างทำความสะอาด ใช้สบู่อ่อนๆชะล้างความสกปรกออก หรือแช่น้ำสะอาดอุณหภูมิปกติประมาณ 10–15 นาที อย่าใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็ง จากนั้นซับน้ำให้แห้งอย่างเบามือ
- ไม่ใส่ยา ครีม หรือสารใดๆ ชะโลมลงบนบาดแผล หากไม่แน่ใจในสรรพคุณในตัวยา อย่าทาด้วยยาสีฟัน ยาหม่อง น้ำปลา กะปิ หรือปลาร้า ตามแบบความเชื่อเดิมๆ เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อบาดแผล เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และจะทำให้รักษายากขึ้น
- ใช้ผ้าก๊อตหรือผ้าปิดแผล
- ถ้ายังมีอาการปวดแสบปวดร้อน สีผิวหนังเปลี่ยนไป หรือมีตุ่มน้ำพองใส ให้รีบไปพบแพทย์
ระดับที่ 2 Second degree burn เกิดบาดแผลได้ทั้งชั้นหนังกำพร้า และชั้นหนังแท้ โดยเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังไหม้บางส่วน ซึ่งมีทั้งระดับตื้นและลึก ที่ผิวสามารถเกิดขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ หากเป็นแผลระดับตื้น อยู่ใต้ชั้นหนังกำพร้า แผลจะมีลักษณะบวมแดง มีตุ่มน้ำใส ปวดแสบ แต่ถ้าแผลระดับลึก ซึ่งมีการทำลายหนังแท้ส่วนลึก ผิวหนังหลุดลอกออกเห็นเนื้อสีแดงๆ มีน้ำเหลืองซึม และรู้สึกปวดแสบปวดร้อนมาก หรือมีบาดแผลกว้างที่อาจทำให้ผู้บาดเจ็บช็อกได้ ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งวิธีการดูแลแผลเบื้องต้นระหว่างรอนำส่งตัวทำได้ดังนี้
- เปลื้องผ้าหรือตัดผ้าบริเวณที่โดนน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ออกทักที แต่ถ้าผ้าติดแน่นกับบาดแผล อย่าพยายามดึงผ้าออก เพราะจะยิ่งทำให้กระทบกับบาดแผล หรือหนังหลุดติดมากับผ้า แต่ให้นำผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซคลุมไว้
- ให้ล้างแผลหรือแช่แผลด้วยน้ำสะอาดและอุณหภูมิปกติเช่นเดียวกับแผลน้ำร้อนลวกระดับที่1
ระดับที่ 3 Third degree burn แผลไหม้ถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังทั้งหมด ความหนาของชั้นผิวหนังถูกทำลาย ทั้งผิวชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ รวมถึงต่อมเหงื่อ เซลล์ประสาท และอาจลามไปถึง กล้ามเนื้อ หรือกระดูก ทำให้แผลมีลักษณะแห้ง แข็ง กร้าน ไม่มีความยืดหยุ่น ไม่มีความเจ็บปวด เนื่องจากเส้นประสาทถูกทำลาย เส้นเลือดบริเวณที่แผลน้ำร้อนลวกอุดตัน และขนหลุดจากผิวหนัง ซึ่งมักจะเกิดจากถูกไฟไหม้ หรือถูกของร้อนนานๆ รวมไปถึงการถูกไฟช็อต การปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกระดับ 3 ทำเหมือนกับระดับ 1–2 และเพิ่มเติมด้วยข้อต่อไปนี้
- อย่าเจาะตุ่มน้ำใสเด็ดขาด เพราะเข็มหรืออุปกรณ์ที่นำไปเจาะอาจไม่สะอาด ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก หรือเกิดแผลอักเสบยิ่งขึ้น
- ถอดแหวน กำไล นาฬิกา ออกให้หมด เพราะหากมีอาการบวมจะทำให้ถอดออกยาก
- หาผ้าคลุมร่างกายของผู้บาดเจ็บ ในกรณีที่ผิวหนังมีความเสียหายมาก อาจทำให้ผู้บาดเจ็บเกิดการหนาวสั่น เนื่องจากผิวหนังสูญเสียประสิทธิภาพในการทำหน้าที่
- ให้ทานยาพาราเซตามอล 1–2 เม็ด เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
- ให้ผู้บาดเจ็บดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำส้มคั้นทุกๆ 15 นาที หากต้องใช้เวลาในการเดินทางไปโรงพยาบาลมากกว่า 2 ชั่วโมง เนื่องจากแผลขนาดใหญ่ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ เกลือแร่ และโปรตีน หรือหากผู้บาดเจ็บกระหายน้ำ แต่ถ้าไม่สามารถหาน้ำเกลือแร่ให้ได้ ก็ให้ดื่มน้ำเปล่าสะอาด
กรณีที่เป็นผู้บาดเจ็บในระดับที่ 1 และ 2 ระดับตื้น ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาด ซับให้แห้ง ทาด้วยยาหรือครีมที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโดยเฉพาะ และใช้วัสดุสำหรับปิดแผล และให้ทานพาราเซตามอลเมื่อมีอาการปวด
แต่ในกรณีที่พบผู้บาดเจ็บหมดสติ ซึ่งอาจเป็นผู้บาดเจ็บในระดับที่ 2 เป็นต้นไป เรียกแล้วไม่รู้สึกตัว ชีพจรอ่อน หรือไม่หายใจ ให้รีบติดต่อ 1669 และรีบทำ CPR เพื่อกระตุ้นการหายใจ ระหว่างรอรถฉุกเฉินมารับตัวผู้ป่วย
บาดแผลจากความร้อนหรือไฟ ส่วนใหญ่จะทำให้ผู้บาดเจ็บมีอาการปวด และอาจติดเชื้อตามมาได้ การดูแลรักษาหลักๆ จึงเป็นการให้ยาแก้ปวด อาจใช้ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์ที่สมอง อย่างเช่น มอร์ฟีนหรือยาลดการอักเสบ (NSAIDs) และยาปฏิชีวนะ (Topical antibiotic) ทั้งแบบชนิดกิน และชนิดทา ซึ่งช่วยปกป้องแผล หรืออวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บไม่ให้ติดเชื้อแบคทีเรีย และถูกทำลายไปมากกว่าเดิม
บาดแผลที่เกิดจากสารเคมี เช่น จากการถูกกรดหรือด่าง จะต้องรีบทำการชะล้างแผลโดยให้น้ำไหลผ่านทันที ประมาณ 5–10 นาที แล้วรีบไปโรงพยาบาล แพทย์จะทำการรักษาแบบเดียวกับบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
บาดแผลจากกระแสไฟฟ้า เช่น ถูกไฟช็อต ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ แพทย์จะให้การรักษาและดูแลแผลโดยให้สารละลายน้ำเกลือทางหลอดเลือดเป็นหลัก ร่วมกับสารที่ช่วยเรื่องการขับปัสสาวะ
นอกจากนี้เรายังมีวิธีการดูแลตัวเองหลังได้รับการรักษามาฝากอีกด้วย อาจจะเป็นการดูแลตัวเองหรือเป็นผู้ดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ
วิธีการดูแลรักษาแแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- รักษาความสะอาดของแผล ล้างแผลหรือเช็ดทำความสะอาดตามที่แพทย์แนะนำ และอย่าปล่อยให้แผลสกปรก หรือเกิดการหมักหมม
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง หรืออยู่ในสถานที่มีฝุ่น เพราะอาจเกิดการระคายเคือง หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
- ทายาและรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น พืชตระกูลถั่ว นม ไข่ เนื้อสัตว์
- หลังจากที่แผลมีอาการดีขึ้น หรือหายดีแล้ว ต้องทาโลชั่นเพื่อลดหรือเจลว่านหางจรเข้ เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ลดอาการผิวแห้งและคัน และทาโลชั่นกันแดดเป็นเวลา 3–6 เดือน
ไม่มีใครต้องการให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่เพราะอุบัติเหตุต่างๆ มักจะเกิดขึ้นได้เสมอโดยที่ไม่มีใครคาดคิด ดังนั้นการรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นไว้จึงจำเป็นมาก เพราะไม่แน่ว่าอาจเป็นคนในครอบครัวหรือคนที่คุณรักเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว คุณก็สามารถช่วยชีวิตพวกเขาได้ด้วยการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธี