นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพแวดล้อมโลก เตือนให้ทั่วโลกช่วยกันกู้สถานการณ์ภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลกในขณะนี้ ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอากาศทั่วโลกกำลังแปรปรวนอย่างหนัก ทั้งสภาพอากาศที่สุดขั้ว ฝนตกหนักผิดปกติ ไฟป่า ภัยแล้ง รวมไปถึง คลื่นความร้อน และทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนแต่รุนแรงกว่า ใช้ระยะเวลานานกว่า เกิดขึ้นถี่กว่าที่เคยมีมา และมีทีท่าจะเพิ่มทวีขึ้น หากมนุษย์ยังไม่ร่วมมือกันหยุดภาวะโลกร้อนตั้งแต่วินาทีนี้!
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกชี้ว่า ฤดูร้อนในทวีปยุโรปมีความแปรปรวนสูงขึ้นมากในระยะหลังมานี้ สภาพอากาศร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ในหลายพื้นที่ เช่น อิตาลี อังกฤษ ที่อุณหภูมิสูงถึง 40 C ํ ฝรั่งเศส 42 C ํ สเปน 45 C ํ อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ในขณะที่สำนักอุตุนิยมวิทยาฝรั่งเศสได้มีการรายงานว่า โดยปกติแล้ว คลื่นความร้อนจะเริ่มมีในช่วงเดือนกรกฎาคม หรือเดือนสิงหาคม แต่ในปี 2565 คลื่นความร้อนเริ่มแผ่ไปในหลาย ๆ ประเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเกิดขึ้นถี่กว่าเดิมมาก นับตั้งแต่ปี 2532 มาจนถึงปัจจุบันนี้ เกิดขึ้นถึง 40 ครั้งแล้ว และกินเวลานานถึง 30-35 วัน / ปี หากเทียบกับช่วงปลายศตวรรษที่ 20 กินเวลาเพียง 3-4 วัน
รู้ไหมว่า เราทุกคนมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศถึง 30 เท่า โดยเฉพาะ “คลื่นความร้อน” และมีผลการศึกษาออกมายืนยันแล้วว่า คลื่นความร้อนรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกในขณะนี้ อาจไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แล้วคลื่นความร้อนคืออะไร ทำไมถึงรุนแรงและเกิดขึ้นถี่ จนส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก?
Heat Wave (ฮีสเวฟ) หรือ คลื่นความร้อน คือ อากาศที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาหนึ่ง แต่จะเกิดขึ้นและใช้เวลาไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น โดยคลื่นความร้อนนี้จะมีระดับอุณหภูมิแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเดิมของพื้นที่นั้นๆ อุณหภูมิปกติของบางประเทศอาจเข้าข่ายคลื่นความร้อนของอีกประเทศหนึ่งที่มีอุณหภูฒิปกติต่ำกว่า เช่น พื้นที่หนึ่งมีอุณหภูมิปกติอยู่ที่ประมาณ 20-27 C ํ แต่เมื่อมีมวลอากาศร้อนเข้ามาในพื้นที่นั้น ทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 30-35 องศาเซลเซียส แบบฉับพลัน หรือภายใน 24 ชั่วโมง และคงอุณหภูมิสูงในค่านี้เป็นเวลาช่วงหนึ่ง อาจ 3-5 วัน หรือ 1-3 สัปดาห์ ลักษณะเช่นนี้จึงจะถือว่าเป็นปรากฏการณ์ คลื่นความร้อน
คลื่นความร้อนเกิดจากอะไร ?
การเกิดคลื่นความร้อน สามารถเกิดได้ 2 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่
- คลื่นความร้อนแบบสะสมความร้อน เกิดจากการสะสมความร้อนเป็นเวลานาน ในพื้นที่แห้งแล้ง และอากาศไม่มีการเคลื่อนที่เป็นเวลานาน ทำให้เกิดการสะสมความร้อนของมวลอากาศ จนกลายเป็นคลื่นความร้อน ลักษณะแบบนี้มักจะเกิดขึ้นในออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ แอฟริกา อินเดีย และปากีสถาน
- คลื่นความร้อนแบบพัดพาความร้อน เกิดจากการมีลมพายุ หรือมีลมแรงพัดพานำมวลความร้อนจากเส้นศูนย์สูตร หรือในเขตทะเลทราย เข้าไปในพื้นที่เขตหนาว หรือที่มีอากาศเย็นกว่า ส่งผลให้อุณหภูมิในพื้นที่นั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และคงอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง จนกว่าลมร้อนนั้นจะสลายตัวหรือถูกพัดผ่าน
Vikki Thompson นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ ณ สถาบัน Cabot แห่งมหาวิทยาลัย Bristol เผยว่า คลื่นความร้อนรุนแรง และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เสมือนเป็นสัญญาณเตือนถึงภัยพิบัติทางสภาพอากาศ ที่มีสาเหตุมาจาก “มนุษย์” และผลจากภาวะคลื่นความร้อนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเลวร้าย ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนเพิ่มจำนวนมากขึ้นในขณะนี้
ขณะเดียวกัน Friederike Otto อาจารย์อาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศแห่ง Grantham Institute , Imperial College London ได้มีการกล่าวว่า คลื่นความร้อนในทวีปยุโรปในบางพื้นที่ เกิดขึ้นถี่ถึง 100 เท่า และเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น
สาเหตุคลื่นความร้อนส่วนใหญ่มาจากการปล่อยมลพิษของมนุษย์ จนส่งผลต่อระบบการไหลเวียนบรรยากาศทั่วโลกให้เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ปรากฏการณ์ Jet stream (เจ็ตสตรีม) หรือ Polar Vortex อาจมีหลายคนไม่เข้าใจว่า โพลาร์ วอร์เท็กซ์ คืออะไร จึงคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัว หรือ เจ็ตสตรีม (Jet stream) ที่แม้ว่าจะเป็นมวลอากาศที่ไหลเวียนอยู่ในบริเวณขั้วโลกเหนือ แต่ก็เป็นตัวแปรสำคัญต่อสภาพอากาศรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยคร้้ง โดยเฉพาะความแตกต่างอย่างสุดขั้ว ระหว่างอุณหภูมิทั้งส่วนขั้วและเส้นศูนย์สูตรของโลก นำไปสู่การก่อตัวของความกดอากาศสูงต่ำ หรือแม้แต่คลื่นความร้อนในปัจจุบัน หากจะกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ก๊าซต่าง ๆ ที่เกิดและสะสมจาก มนุษย์ ส่งผลต่อการเพิ่มอัตราการไหลเวียนของความกดอากาศให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมนั่นเอง
การแก้ปัญหาคลื่นความร้อน แนวทางแก้ไขนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน โดยนักวิทย์แนะนำให้ลดการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีการปล่อยคลื่นความร้อนสูง อาทิ เครื่องปรับอากาศ เพราะเป็นตัวเร่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยการปลูกต้นไม้ ปลูกพืชผักสวนครัว หรือไม้เลื้อยปกคลุมบนผนังเพื่อเพิ่มร่มเงา การลดปริมาณการใช้พลาสติก การรีไซเคิล การทำปุ๋ยหมักด้วยเศษอาหารง่ายๆจากที่บ้าน การแยกขยะ เป็นต้น และถ้าหากทุกคนร่วมมือกันอย่างจริงจัง เชื่อว่า จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้มากกว่าล้านตัน และนั่นจะเป็นการแก้ไขปัญหา และช่วยหยุดหายนะให้กับโลกของเราได้อย่างแท้จริง