ขยะอาหาร หรือ ขยะจากเศษอาหาร (Food Waste) คือ 1 ใน 3 ของปริมาณขยะที่มากที่สุดในโลก โดยมีต้นทางมาจากทั้งระบบครัวเรือน อาคาร สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม และ ธุรกิจร้านอาหารทุกประเภท 

 

ปริมาณขยะทั้งหมดในโลกที่มีกว่าหลายล้านตัน เป็นขยะเศษอาหารมากกว่า 1,300 ล้านตัน โดยในประเทศไทยมีขยะอาหารถึง 60% ของปริมาณขยะทั้งหมด ซึ่งขยะอาหาร คือ อีกหนึ่งตัวแปรที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน หนึ่งในสารพิษที่เป็นตัวการของ ปัญหาภาวะโลกร้อน (Global heating มาแทนที่คำว่า Global warming ที่แปลว่าโลกอุ่น เนื่องจากความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น) 

 

โดยปกติของธุรกิจร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่แบบ หรือร้านอาหารขนาดเล็ก มักจะมีขยะเศษอาหารในแต่ละวันเป็นจำนวนมากกว่าระบบครัวเรือน ดังนั้น ควรมีการบริหารจัดการเพื่อลดปริมาณขยะอาหารให้น้อยลง ซึ่งวันนี้เรามีไอเดียดี ๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจอาหารลดการสร้างขยะ ลดต้นทุน และ ช่วยลดโลกร้อน รับรองว่าทำตามได้ไม่ยาก แต่ผลลัพท์ที่ได้ดีมากกว่าที่คิด 

  1. วางแผนการซื้อวัตถุดิบ 

การวางแผนรายการวัตถุดิบที่จะซื้อ ช่วยให้ลดการซื้อที่เกินจำเป็น และไม่ต้องเหลืออาหารทิ้งให้เป็นขยะ โดยเริ่มจาก…

  • ประเมินจำนวนและความต้องการของลูกค้าในแต่ละวัน อาจมีการจดบันทึกหรือกะประมาณได้คร่าว ๆ  ในจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการ ช่วยให้ง่ายขึ้นต่อการคำนวนในการซื้อวัตถุดิบให้เพียงพอและไม่เหลือทิ้ง 
  • จัดเรียงตามวันหมดอายุ โดยการสต็อกวัตถุดิบเรียงก่อน-หลัง ตามวันหมดอายุของอาหารที่ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ ส่วนวัตถุดิบที่ไม่ระบวันหมดอายุ เช่น ผัก ผลไม้สด ควรจัดเรียงตามลำดับการซื้อ 
  • จัดทำข้อมูลสต๊อกวัตถุดิบทั้งหมด ทั้งของสด ของแห้ง ระบุจำนวนที่เหลือ หรือของที่ยังมีอยู่ให้ชัดเจน เพื่อลดการซื้อซ้ำ ทำให้ซื้อเกิน แล้วอาจใช้ไม่ทันวันหมดอายุ หรือเน่าเสียจนต้องทิ้ง 

  1. ใช้วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

วัสดุและอุปกรณ์ คือ อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น จาน ชาม ช้อน ขวดน้ำ หรือถุงใส่ขยะในร้าน 

  • ขวดน้ำ เลือกใช้ขวดแก้วที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้แทนการใช้ขวดน้ำพลาสติก 
  • ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ เช่น หลอดซังข้าว ช้อนส้อมฟางข้าวสาลี จานกาบหมาก กล่องชานอ้อย 
  • ถุงขยะย่อยสลายได้ ผลิตจากมันสำปะหลัง สามารถย่อยสลายได้ภายใน 4-5 เดือน มีความแข็งแรงทนทานมาก ไม่ขาดง่าย เหมาะต่อการทิ้งเศษขยะอาหาร 

  1. ใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า 

การใช้วัตถุดิบทุกชิ้นได้อย่างคุ้มค่า นอกจากจะช่วยลดการทิ้งวัตถุดิบส่วนเกิน ยังช่วยลดการสิ้นเปลือง ลดต้นทุนไปในตัว 

  • สร้างสรรค์เมนูใหม่จากวัตถุดิบส่วนเกินที่ลูกค้าไม่นิยมบริโภค เช่น กระดูกสัตว์ (หมู , ไก่ ) เปลือกผลไม้บางชนิด สามารถนำไปทำน้ำสต็อก น้ำซุป หรือนำเปลือกผลไม้บางชนิด เช่น เปลือกส้ม เปลือกมะนาว ไปตากแห้งแล้วนำไปบดให้ผง ใช้โรยใส่อาหารเพื่อให้ได้กลิ่นตามที่ต้องการ อย่าง กลิ่นมะนาว กลิ่นส้ม เป็นต้น 
  • เช็กคุณภาพอาหาร เพื่อลดขยะเศษอาหารจากการตัดแต่ง โดยเฉพาะอาหารประเภท ผัก และ ผลไม้ 
  • ส่งต่อให้เกิดประโยชน์ นำอาหารที่มีมากเกินจำเป็น หรือใกล้หมดอายุแต่ยังรับประทานได้ แบ่งปันให้แก่คนยากไร้ หรือสัตว์จรจัด หรือแถมให้ลูกค้าเป็นพิเศษ เพื่อให้ลูกค้านำกลับไปทานที่บ้านหรือแบ่งปันคนอื่นต่อไป 
  • ส่งต่อให้แอปพลิเคชัน “ยินดี” แอปน้องใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อลดปัญหาขยะอาหาร และช่วยต่ออายุอาหารเหลือใช้ หรืออาหารที่ขายไม่หมดในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด อาหารบุฟเฟ่ต์ หรือเบเกอรี่ นำมาขายในราคาพิเศษ โดยลดราคาตั้งแต่ 50-80% แทนการทิ้งให้เป็นขยะอาหาร 

  1. เปลี่ยนเศษอาหารให้มีมูลค่า 

การเพิ่มมูลค่าให้กับเศษขยะอาหาร นอกจากจะไม่ต้องทิ้งให้เป็นขยะแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ในอีกช่องทาง และอาจต่อยอดทำเป็นธุรกิจได้อีกด้วย 

  • การผลิตปุ๋ยหมักออแกนิกคุณภาพดีจากขยะเศษอาหาร สามารถนำไปต่อยอดได้หลายทาง เช่น นำไปใช้ปลูกผักสวนครัวออแกนิก แล้วนำผักที่ปลูกมาใช้เป็นวัตถุดิบในร้าน เป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ลดต้นทุน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี หรือจะนำปุ๋ยที่ได้ไปจำหน่ายแก่เกษตรกร เพิ่มรายได้แล้วนำมาเป็นทุนหมุนเวียนในร้านต่อไป 
  • นำน้ำมันพืชที่ผ่านการปรุงแล้วไปจำหน่าย เพื่อใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาด ช่วยลดมลพิษ และลดก๊าซเรือนกระจก 
  • เพิ่มมูลค่าขยะจากอาหารด้วยการสร้างเป็นสินค้าใหม่ เช่น กากกาแฟ สามารถนำไปผลิตเป็นสครับ หรือเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวชนิดต่าง ๆ ทำถุงดับกลิ่น เนื่องจากกากกาแฟมีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่นได้ดี 

  1. ให้ลูกค้ามีส่วนร่วม

ธุรกิจอาหารทุกประเภทสามารถสร้างความร่วมมือจากลูกค้าได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ลูกค้าได้รับรู้ถึงการมีส่วนร่วมในการรักษ์โลกไปด้วยกัน 

  • มีเคมเปญให้ลูกค้า หรือโปรโมชันพิเศษจากการร่วมรักษ์โลก เช่น มีส่วนลดเมื่อนำภาชนะมาเอง นำแก้วที่เคยซื้อกับทางร้านมาแลกส่วนลด การสะสมแต้มจากการทานอาหารหมดจาน เป็นต้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจการลดขยะอาหาร 
  • สอบถามความต้องการ และสิ่งที่ไม่ต้องการ รวมไปถึงอาหารที่แพ้ เช่น เครื่องเคียง วัตถุดิบที่แพ้หรือไม่ทาน เพื่อจะได้ไม่ใส่ เป็นการป้องกันความผิดพลาด และช่วยลดการทิ้งอาหารเป็นขยะ 
  • มีบริการห่อกลับบ้านหากลูกค้าทานในร้านไม่หมด เพื่อลดการเหลืออาหารทิ้งในแต่ะละมื้อ 

เหมือนจะดูว่าหลายข้อ แต่ทำได้จริงไม่ยากเลย หากทำได้เช่นนี้ รับรองว่าธุรกิจของคุณจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดโลกร้อน และเพิ่มกำไรเนื่องจากต้นทุนลดลง และอาจเป็นจุดขายที่ดี ทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเชื่อว่ายังมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่ต้องการอิ่มท้องด้วยอาหารอร่อย และอิ่มใจเพราะมีส่วนร่วมในการรักษ์โลก