อากาศร้อน คือ สัญลักษณ์ของเมืองไทย และคนไทยก็คุ้นเคยกับสภาพภูมิอากาศนี้กันมาตั้งแต่เกิด แต่…เมื่อความร้อนมันเพิ่มสูงขึ้นจนแทบจะทะลุเพดานปรอท และผู้เชี่ยวชาญด้านสถาพอากาศได้คาดการไว้ว่า ฤดูร้อน ประจำปี 2566 คือ ช่วงเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม มีแนวโน้มว่าความร้อนอาจทะยานพุ่งไปแตะถึง 50 องศาเซลเซียส ! 

 

โอ้ววว แล้วร่างกายของคนเราจะทนกันไหวแค่ไหนกันนะ ความร้อนสูงขนาดไหนที่ก่อให้เกิดอาการอันตรายจากภาวะอากาศร้อน แล้วเราจะป้องกันตัวเองจากอากาศร้อนทำไงดี ไปดูกันเลย 

ระดับ 27 – 32 องศาเซลเซียส 

ความร้อนขนาด 27 – 32 องศาเซลเซียส คือ ระดับความร้อนที่อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า คลื่นไส้ อาเจียน หรือ อาจปวดเมื่อยตามร่างกายได้ ถือว่าเป็นระดับความร้อนที่เฝ้าระวัง 

ระดับ 32 – 41 องศาเซลเซียส 

ความร้อนขนาด 27 – 32 องศาเซลเซียส คือ ระดับความร้อนที่อาจทำให้รู้สึกร้อนในตัว แต่ไม่มีไข้ ทำให้เกิดอาการเพลียแดด หรือเป็นตะคริวได้ ถือว่าเป็นระดับความร้อนเตือนภัย 

ระดับ 41 – 54 องศาเซลเซียส 

ความร้อนขนาด 41 – 54 องศาเซลเซียส คือ ระดับความร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาจก่อให้เกิดอาการตะคริวได้ทั่วร่างกาย หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น หัวไหล่ หน้าท้อง น่อง หรือ ขา รวมไปถึง อาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนแรง และอื่น ๆ และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างรุนแรงเช่นกัน เช่น เกิดอาการอ่อนแรงในขณะทำงานกับเครื่องจักร หรือ ขณะขับรถ เป็นต้น 

ระดับ 55 – 60 องศาเซลเซียส 

ความร้อนขนาด 55 – 60 องศาเซลเซียส คือ ระดับอากาศร้อน อุณหภูมิร่างกายสูง ก่อให้เกิดอาการ Heat Stroke หรือ โรคลมแดด ได้ 

วิธีขับร้อนออกจากร่างกาย 

ร่างกายปกติของคนเราจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส แต่ในขณะเดียวกัน ร่างกายก็สามารถปรับอุณหภูมิให้มีความสมดุลกับสภาวะอากาศภายนอก ด้วยการขับร้อนออกจากร่างกายในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

  • การนำความร้อน (conduction) คือ การถ่ายเทความร้อนจากวัตถุที่มีอุณหภูมิสูงกว่าไปยังวัตถุที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ด้วยการสัมผัสผิวโดยตรง โดยการใช้น้ำเป็นตัวกลางนำความร้อนออกจากร่างกาย 
  • การพาความร้อน (convection) คือ การระบายความร้อนออกจากร่างกายโดยการอาศัยการหมุนเวียนของอากาศในบริเวณที่อยู่ล้อมรอบเป็นตัวพาความร้อนภายในร่างกายมาระบายที่ผิวหนัง 
  • การแผ่รังสีความร้อน (radiation) คือ การระบายความร้อนออกจากร่างกายในรูปแบบของคลื่นรังสี โดยแผ่กระจายไปทุกทิศทุกทาง โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง 
  • การระเหยความร้อน (evaporation) คือ การระบายความร้อนออกจากระบบทางเดินหายใจ หรือทางผิวหนัง เช่น เหงื่อ โดยที่เราไม่รู้ตัว 

วิธีป้องกันและดูแลตัวเองเมื่อต้องออกกลางแจ้ง 

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าคอตตอน 100% ใส่สบาย ผ้านุ่ม แถมยังดูดซับน้ำได้ดี 
  • ทากันแดดก่อนออกจากบ้าน โดยเลือกค่า SPF 30 + ขึ้นไป 
  • ดื่มน้ำหรือจิบน้ำบ่อย ๆ  เพื่อรักษาอุณหภูมิในร่างกาย และป้องกันร่างกายขาดน้ำ 
  • ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำช่วยดับร้อน ด้วยการนำผ้าขนหนูชุบน้ำบิดหมาด เช็ดตามลำคอ แขน ขา และตามข้อพับ ช่วยคลายร้อนได้เช่นกัน 
  • สมุนไพรดับร้อน สมุนไพรไทยสารพัดประโยชน์ ใช้เป็นอาหาร เสริมความงาม และใช้เป็นยาเย็นดับร้อนในร่างกายได้อีกด้วย เช่น ใบบัวบก ว่านหางจระเข้ รางจืด ฟักเขียว ดอกแค ดอกดาวเรือง เก็กฮวย สะเดา ย่านาง บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร มะระขี้นก ซึ่งจะทานเป็นอาหาร หรือต้มเป็นน้ำดื่ม ก็ช่วยคลายร้อนได้ดีเลยทีเดียว  
  • เมื่อมีอาการอ่อนเพลีย หรือเวียนศีรษะ ให้รีบเข้าที่ร่ม หรือที่มีลมเย็น หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแดด