“โอม…โรครนนะเศษานะปะหัมสิ ดุษฏา รุษฏา ตุ กามาน สะกะลานะภีษะฏาน ตะวามาศรีตานาม นะ วิปันนะรานาม ตะวามาศรีตา หยา ศระยะตาม ปะระยานติ”
เริ่มต้นด้วยบทขอพรพระแม่อุมา เพราะจะเข้าสู่พิธี นวราตรี และ งานแห่ประเพณี วิชัยทัสมิ ซึ่งเป็นงานประจำปีของ “วัดพระศรีอมหาอุมาเทวี” หรือ ที่เรารู้จักกันดีในนามของ วัดแขก สีลม โดยในปีนี้จะตรงกับวันที่ 25 ก.ย. – 7 ต.ค.2565 ถึงแม้ว่าจะมีหลายคนรู้จักและอาจเคยได้ไปสักการะวัดแขกบ้างแล้ว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า นวราตรี คือวันอะไร และสำคัญอย่างไร บทความนี้จะพาทุกท่านที่สนใจหรือต้องการไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวันที่มีพิธี ให้ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับนวราตรีและประเพณีวิชัยทัสมิเพิ่มเติมกันก่อน
นวราตรี คืออะไร
นวราตรี คือ พิธีบูชาพระแม่อุมาเทวี หรืออีกนามว่า พระแม่ทุรคา ในปางต่าง ๆ ซึ่งเป็นพิธีสืบต่อกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยพระเวท และเป็นเทศกาลสำคัญของชาวฮินดู โดยจะมีการจัดพิธีและการแห่ขบวนยิ่งใหญ่ มีคณะพราหมณ์อัญเชิญเทวรูป พระแม่อุมาเทวี (พระแม่มารีอัมมัน) และเทวรูปองค์อื่น ๆ ออกมาแห่บนถนนสีลม โดยเริ่มตั้งขบวนที่บริเวณหน้าวัดพระศรีมหาอุมาเทวี ฝั่งถนนปั้น แล้วเดินแห่ขบวนไปรอบ ๆ เมือง

สถานที่จัดงาน นวราตรี มีที่ไหนบ้าง
ผู้ที่มาร่วมงานจะมีการเตรียม น้ำมะพร้าว เพื่อชำระล้างพื้นถนนให้สะอาด ในขณะที่ขบวนแห่เทวรูปพระแม่อุมาเทวีผ่าน ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลอง ที่วัดแขก สีลม , วัดวิษณุ , วัดเทพมณเฑียร และวัดฮินดูทั่วประเทศ
ความสำคัญของวันนวราตรีและความศรัทธา
ชาวฮินดูมีความศรัทธาต่อพระแม่อุมาเทวี มารดาแห่ง พระพิฆเนศ และแม่อุมาเทวีชายาแห่งพระศิวะ มหาเทพผู้ทำลายโลก ดังนั้น พระแม่อุมาจึงเป็น 1 ใน 3 แห่งพระตรีศักติ พระแม่ 3 พระองค์ คือ พระแม่อุมาเทวี พระแม่ลักษณมี และ พระแม่สุรัสวดี
วัดแขก สีลม หรือ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี เป็นเทวสถานในลัทธิศักติ โดยบูชาเทวีเป็นหลัก และผู้คนนิยมไปกราบไหว้ขอพรเรื่องความรักและขอบุตรกับพระแม่อุมาเทวี ซึ่งเป็นภาคองค์เจ้าแห่งความเมตตากรุณา โดยในช่วงของวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี จะเป็นเทศกาล นวราตรี หรือ ดูเซร่า ที่ชาวฮินดูมีความเชื่อว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่พระแม่อุมาเทวีและเทพจะเสด็จลงยังโลกเพื่อประทานพรให้กับมนุษย์
ดังนั้นผู้ศรัทธาจะงดเว้นจากการทานเนื้อสัตว์เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน เพื่อถวายบูชาพระแม่อุมาเทวี ในภาคพระแม่มหาทุรคา ที่ต่อสู้กับ มหิงสาสูร (อสรูควาย) เป็นระยะเวลาถึง 9 วัน 9 คืน จนพระแม่อุมาสามารถเอาชนะมหิงสาสูรได้ในวันที่ 10 จึงได้มีการจัดพิธีฉลองยิ่งใหญ่และถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
คืนที่มีพิธีนวราตรี ชาวฮินดูจะบูชาเทวีทุรคาทั้ง 9 ปาง หรือ รวทุรคา ดังนี้
- ปางไศลบุตรี คือ ปางพระปารวตี ธิดาแห่งพระหิมวัต ผู้เป็นใหญ่ปกครองภูเขาหิมาลัย
- ปางพรหมจาริณี คือ ปางที่พระอุมาออกบำเพ็ญตบะเพื่อบูชาพระศิวะ กระทั่งเป็นที่พอพระทัยจึงได้วิวาห์ด้วย
- ปางจันทราฆัณฐ์ คือ ปางของพระทุรคาที่ทรงปราบอสูร ฆัณฑาและนำสันติสุขกลับคืนสู่โลก
- ปางกูษมัณฑา คือ ปางที่มีรัศมีเปล่งปลั่งในสถานะผู้สร้างจักรวาล
- ปางสกันธ์มาตา คือ ปางอุ้มพระสกันธ (ขันธกุมาร) ไว้บนตัก บ่งถึงความรักของมารดาที่มีต่อบุตร
- ปางกาตยะยานี คือ ปาง 4 กร ปางแห่งการทำลายมารร้าย ประทานสุขภาพที่แข็งแรงแก่สาวก
- ปางกาลราตรี คือ ปางที่มีผิวดำ เป็นปางทำลายอวิชชา ความโง่เขลา เป็นผู้อยู่เหนือกาลเวลา
- ปางมหาเคารี คือ ปางประทานพร
- ปางสิทธิธาตรี คือ ปางประทานโอกาสให้เหล่าเทพ เทวดา ฤาษี สิทธา คนธรรพ์ อสูร ยัก และสาวกที่เข้าเฝ้า
ผู้มาร่วมงานในพิธีจะแต่งกายชุดสีขาว หรือชุดส่าหรีแบบอินเดีย พร้อมดอกไม้สีเหลือง สีแดง และมีการตั้งโต๊ะบูชาองค์เทพต่าง ๆ ตลอดเส้นทางที่ขบวนผ่าน เพื่อรอรับพรจากพระแม่อุมาเทวี