นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โลกเรามีเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาแล้วนับไม่ถ้วน ทั้งแผ่นดินไหวขนาดเพียงเล็กน้อย ที่ไม่กระทบกับสิ่งมีชีวิตบนโลก ไปจนถึงแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมาแล้วมากมายเช่นกัน บทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจในเรื่องของแผ่นดินไหว สาเหตุ ผลกระทบ การป้องกัน ตั้งแต่ แผ่นดินไหวคืออะไร แผ่นดินไหวคือภัยอะไร ลักษณะการเกิดแผ่นดินไหว ตลอดไปจนถึงแนวทางการป้องกันแผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวคืออะไร
แผ่นดินไหว คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดการสั่นสะเทือนของแผ่นดินที่รู้สึกได้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของพื้นผิวโลก โดยการเกิดแผ่นดินไหว ภาษาอังกฤษเรียกว่า Eartquake
อะไรคือสาเหตุการเกิดแผ่นดินไหว
ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวมีด้วยกัน 2 สาเหตุ
- แผ่นดินไหว ภัยที่เกิดจากธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการเคลื่อนที่อย่างฉับพลันของเปลือกโลก จากการปลดปล่อยแรงเครียดที่มีการสะสมความร้อนมาเป็นเวลานาน เพื่อระบายและปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ และแรงเครียดที่สะสมภายในโลกส่งผลให้เกิดการแตกหักของหิน จนกลายเป็นแนวรอยเลื่อน และการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนเปลือกโลก (Fault) นี้เองที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว รวมไปถึงการเคลื่อนที่ของหินหลอมเหลวใต้ภูเขาไฟที่ใกล้รเบิด และ การตกกระทบผิวโลกของอุกกาบาต
- แผ่นดินไหว ภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การทดลองระเบิดปรมาณู การทำเหมืองแร่ การกักเก็บน้ำในเขื่อน เป็นต้น
ความรุนแรงของแผ่นดินไหว
ความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่รับรู้ได้ว่ามากหรือน้อยเพียงใด และขึ้นอยู่กับศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น โดยการวัดขนาดของแผ่นดินไหว คือ การวัดปริมาณของพลังงานที่มีการปลดปล่อยออกมาจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวต่อคร้้ง ซึ่งสามารถวัดขนาดของแผ่นดินไหวได้หลายวิธี เช่น การใช้มาตราแบบ “ริกเตอร์” หรือ แบบเมอร์แคลลี่
ความรุนแรงตามขนาดของแผ่นดินไหว (มาตราริกเตอร์)
- ขนาด 1-2.9 ริกเตอร์ (เล็กน้อย) : มีการสั่นสะเทือกเล็กน้อยที่ผู้คนสามารถรับรู้ได้ถึงคลื่น และอาจทำให้บางคนเกิดอาการวิงเวียนศีรษะเล็กน้อย
- ขนาด 3-3.9 ริกเตอร์ : คนที่อาศัยอยู่ในอาคารจะรู้สึกเหมือนอาคารสั่นสะเทือน
- ขนาด 4-4.9 ริกเตอร์ (ปานกลาง) : รู้สึกได้ถึงการสั่นสะเทือนทั้งคนที่อาศัยในอาคารและนอกอาคาร วัตถุห้อยแขวนมีการแกว่งไกว
- ขนาด 5-5.9 ริกเตอร์ (รุนแรง) : วัตถุและเครื่องเรือนต่าง ๆ มีการเคลื่อนที่ ของที่สูงหล่นตกพื้น
- ขนาด 6-6.9 ริกเตอร์ (รุนแรงมาก) : อาคารเริ่มร้าว เสียหาย หรือพังทลาย
- ขนาด 7 ริกเตอร์ ขึ้นไป (รุนแรงมาก) : เกิดแรงสั่นสะเทือนรุนแรง วัตถุต่าง ๆ เกิดการเหวี่ยงกระจัดกระจาย อาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ พังทลาย แผ่นดินแยกจากกัน
สัญญาณก่อนเกิดแผ่นดินไหว
สังเกตจากบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวในอดีต
หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ๆ ในบริเวณเดียวกันหรือบริเวณใกล้เคียงหลายครั้งติดต่อกัน ซึ่งอาจหลายวันหรือหลายสัปดาห์ สามารถบอกเหตุล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ตามมาได้ หรือแม้แต่ในบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในอดีตมาก่อน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงเท่าเทียมกันหรืออาจรุนแรงกว่า หากบริเวณนั้นยังคงมีความคุกรุ่น หรือเป็นภูเขาไฟที่ยังมีพลังงาน และถ้ายิ่งมีการสะสมพลังงานที่เปลือกโลกในระยะเวลานานเท่าไร การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกโดยฉับพลัน ยิ่งเป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงได้มากทวีคูณเช่นกัน
สังเกตจากทางลักษณะกายภาพของเปลือกโลก ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพปกติก่อนการเกิดแผ่นดินไหว เช่น
- ใต้ผิวโลกมีความร้อนสูงกว่าบนพื้นผิวโลก จนส่งผลต่อการขยายตัว และการหดตัวที่ไม่สม่ำเสมอของเปลือกโลก โดยเปลือกโลกส่วนล่างจะมีการขยายตัวมากกว่า
- การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก
- สนามแม่เหล็ก สนามไฟฟ้า และแรงโน้มถ่วงของโลก มีการเปลี่ยนแปลง
- ปริมาณแก๊สเรดอนเพิ่มขึ้น
- น้ำใต้ดินมีการเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวและการขยายตัวของเปลือกโลกใต้ชั้นหินรองรับน้ำ
สังเกตจากพฤติกรรมของสัตว์ เนื่องจากสัตว์หลายชนิดสามารถรับรู้และมักจะมีท่าทางการแสดงออกมาก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหว เช่น
- สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว เป็ด ไก่ หมู มีอาการตื่นตกใจโดยไม่มีสาเหตุ
- หนู งู วิ่ง และ เลื้อยออกมาจากรูอาศัย แม้จะเป็นช่วงฤดูจำศีลก็ตาม
- ปลา ต่างพากันกระโดดขึ้นจากผิวน้ำแบบผิดปกติ เหมือนต้องการหนีให้พ้นบริเวณนั้น
- แมง แมลงต่าง ๆ พากันบินหรือวิ่งเพ่นพ่าน
ข้อปฏิบัติการป้องกันภัยเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว
ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ในกรณีที่มีการแจ้งเตือนว่าอาจเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้พอมีเวลาเตรียมตัวในการรับมือ ดังต่อไปนี้
- เตรียมเครื่องอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น ยารักษาโรค และเวชภัณฑ์สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- จัดเตรียมเครื่องรับวิทยุ ถ่านไฟฉายหรือแบตเตอรี่
- จัดเตรียมยึดเครื่องเรือน อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านและนอกบ้าน ป้องกันความเสียหายของทรัพย์สิน และควรเคลื่อนย้ายของที่วางไว้บนที่สูง โดยเฉพาะของที่มีน้ำหนักมาก
- ตรวจสอบระบบน้ำ-ไฟ-แก๊ส ปิดวาล์วน้ำ และยกสะพานไฟฟ้า ซ่อมแซมเบื้องต้นหากพบมีการชำรุด กรณีที่ได้กลิ่นแก๊สรั่ว ให้เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบาย แล้วรีบออกจากอาคาร และแจ้งเจ้าหน้าที่ป้องกันภัย
- เตรียมสถานที่ในการอพยพเคลื่อนย้าย รวมถึงการนัดแนะสถานที่นัดพบ เผื่อในกรณีพลัดหลง
ขณะเกิดแผ่นดินไหว
- หากอยู่ภายในบ้านหรืออาคารขณะเกิดแผ่นดินไหว ให้ยืนหรือหมอบในส่วนที่มีโครงสร้างแข็งแรง เช่น ใต้โต๊ะ และพยายามอยู่ให้ห่างจากประตู หน้าต่าง ใต้คาน และสายไฟฟ้า
- หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง ควรอยู่ให้ห่างจากเสาไฟฟ้า อาคาร และสิ่งห้อยแขวนต่าง ๆ
- หากกำลังขับรถแล้วเกิดแผ่นดินไหว ให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ จนกว่าแผ่นดินจะหยุดสั่นสะเทือน
- ห้ามใช้ลิฟท์ขณะเกิดแผ่นดินไหวโดยเด็ดขาด
- ห้ามใช้เทียน ไม้ขีดไฟ หรือกระทำการใด ๆ ให้เกิดประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วบริเวณนั้น
- หากอยู่บนชายหาดขณะเกิดแผ่นดินไหว รีบออกจากบริเวณชายหาด และขึ้นที่สูงโดยเร็ว เพราะอาจเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้
หลังเกิดแผ่นดินไหว
- สำรวจตัวเองและคนรอบข้างว่าได้รับการบาดเจ็บหรือไม่ และทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- หากได้กลิ่นแก๊สรั่ว ให้เปิดประตู หน้าต่างทุกบาน แล้วรีบออกจากบริเวณนั้น และแจ้งเจ้าหน้าที่
- รีบออกจากอาคารที่ชำรุดเสียหาย
- ไปยังจุดนัดรวมพลที่ได้ทำการนัดหมายไว้
- อย่าเข้าไปในบริเวณที่อาคารเสียหายชำรุด เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุจากซากปรักหักพัง
- เปิดวิทยุเพื่อติดตามสถานการณ์และคำแนะนำ ไม่ควรใช้โทรศัพท์หากไม่จำเป็น
- อย่าแพร่ข่าวลือ