สำหรับคนในเมืองกรุงเทพอาจได้รู้สึกถึงลมเย็นเริ่มพัดโชยมาบ้างแล้ว ในขณะที่หลายจังหวัดในภาคเหนือและบางพื้นที่ทางภาคอีสานเริ่มมีเหมยขาบและแม่คะนิ้งให้เห็นพอสร้างความตื่นเต้น จนมีนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเพื่อไปปะทะกับลมหนาว และชมความงามของเหมยขาบกันอย่างคึกคัก แต่เอ..บ้างก็เรียก “เหมยขาบ” บ้างก็เรียก “แม่คะนิ้ง” แล้วมันเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรนะ และเหมยขาบกับแม่คะนิ้งคือน้ำแข็งใช่หรือไม่ เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
เหมยขาบและแม่คะนิ้ง มีจุดเริ่มต้นและที่มาเหมือนกัน คือ “ไอน้ำ” ซึ่งลอยอยู่ในอากาศสถานะก๊าซ ที่ตาเปล่าเรามองไม่เห็น และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิต่ำอย่างรวดเร็ว ไอน้ำในอากาศจะกลายไปเป็นของแข็ง ซึ่งอาจในรูปแบบของเกล็ดน้ำแข็งหรือหยดน้ำค้างแข็งเกาะตามวัตถุต่าง ๆ เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ เป็นต้น โดยที่เหมยขาบและแม่คะนิ้ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Hoar Frost หรืออาจเขียนติดกันเป็น Hoarfrost ซึ่งการเกิดฮอร์ฟรอสต์นี้สามารถเกิดขึ้นได้ 2 แบบด้วยกัน ได้แก่ Hoar frost proper และ Advection hoar frost
เหมยขาบ และ แม่คะนิ้ง เหมือนหรือต่างกัน
เหมยขาบ และ แม่คะนิ้ง เป็นไอน้ำบริเวณพื้นดินหรือหยดน้ำค้างที่เกาะตามวัตถุต่าง ๆ เมื่ออุณหภูมิลดลงต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียส โดยแม่คะนิ้งเกิดจากการเปลี่ยนสถานะไอน้ำเป็นของแข็ง ในรูปของเกล็ดน้ำแข็ง เมื่อเกาะตามใบไม้หรือกิ่งไม้ จะทำให้ดูขาวโพลนคล้ายกับหิมะ และจะละลายเมื่อโดนแสงแดดส่อง แต่ไม่ใช่หิมะและต่างจากน้ำค้างแข็ง ภาษาอังกฤษเรียก Frozen dew
เหมยขาบ ภาษาเหนือ แปลว่า “น้ำค้าง” ซึ่งเป็นภาษาล้านนาดั้งเดิม ในขณะที่คำว่า “แม่คะนิ้ง หมายถึง แม่ขะนิ้ง หรือออกเสียง “แหม่ขะนิ้ง” ซึ่งพบว่าเป็นคำภาษาถิ่นทางแถบจังหวัดเลย โดยจะใช้เรียกน้ำค้างที่เกาะอยู่ตามยอดหญ้าในหน้าหนาว
เหมยขาบและแม่คะนิ้งเป็นน้ำค้างแข็งใช่หรือไม่
ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่เรียก เหมยขาบ หรือ แม่คะนิ้ง หมายถึง น้ำค้างแข็ง ซึ่งความจริงแล้ว ระหว่างเหมยขาบและน้ำค้างแข็งนั้นมีความแตกต่างกันทางกายภาพพอสมควร
เหมยขาบ เกิดจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซ (ไอน้ำในอากาศ) เป็นของแข็ง (เกล็ดน้ำแข็ง) เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงกว่าจุดเยือกแข็ง (freezing point) ในขณะที่ น้ำค้างแข็ง เกิดจากก๊าซ (ไอน้ำในอากาศ) เปลี่ยนไปเป็น น้ำ (ของเหลว) เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงกว่าจุดน้ำค้าง หรือ dew point แล้วจึงค่อยเปลี่ยนจาก น้ำ ไปเป็น ของแข็ง (หยดน้ำค้างแข็ง) เกาะอยู่ตามใบไม้อีกที
แม่คะนิ้งอยู่ที่ไหน
สามารถพบแม่คะนิ้งได้ที่หุบเขาหรือยอดเขาสูงที่มีอุณหภูมิต่ำ หรืออุณหภูมิที่ 0 องศาเซลเซียส ไปจนถึงอุณหภูมิติดลบ โดยมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณยอดหญ้า มีลักษณะเป็นเกล็ดน้ำแข็งเกาะขาวโพลน และสามารถพบเหมยขาบหรือแม่คะนิ้งดอยอินทนนท์ ได้เป็นประจำทุกปี เนื่องจากเป็นยอดเขาสูงสุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบได้ที่ยอดดอยอ่างขาง ภูกระดึง และยอดเขาสูงอีกหลายแห่งในไทย
สามารถพบเหมยขาบและแม่คะนิ้งเดือนอะไร
เหมยขาบหรือแม่คะนิ้งมีในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมของทุกปี
สรุป
เหมยขาบกับแม่คะนิ้งต่างกันที่ภาษาท้องถิ่นที่เรียก โดยอาจเลือกใช้คำที่เหมาะสมในการเรียก เช่น ไปดูเหมยขาบดอยอินทนนท์ หรือ ไปชมแม่คะนิ้งที่ภูเรือ ส่วนน้ำค้างแข็งนั้นไม่ใช่เหมยขาบหรือแม่คะนิ้ง ทั้งขั้นตอนการเปลี่ยนสถานะ และต่างกันด้วยทางกายภาพเล็กน้อย ซึ่งหากมองผิวเผินด้วยตาเปล่าอาจทำให้ดูเหมือนกันและสร้างความสับสนได้ แต่ถ้าหากสังเกตดี ๆ หรือใช้กล้องซูมมาก ๆ จะเห็นถึงความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจน โดยแม่คะนิ้งจะมีลักษณะเป็นเกล็ดน้ำแข็งที่ละเอียดเกาะกระจายตัวไปทั่ววัตถุที่เกาะ ในขณะที่ น้ำค้างแข็งจะมีลักษณะเป็นก้อนหยดน้ำแข็งเกาะเป็นกระจุกหรือเป็นจุด ๆ เสียมากกว่า