นายแพทย์ ธนีย์ ธนีย์วัน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดและเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่คลิปยูทูบเพื่อให้คำแนะนำผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 แล้วเชื้อลงปอด แต่ไม่มีเตียงรักษาหรืออยู่ระหว่างรอเตียง โดยมีเนื้อหาใจความดังนี้

 

ให้เราเช็คตัวเองก่อนหากมีอาการเหนื่อยหอบง่ายกว่าปกติแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ให้สงสัยว่าโควิดอาจลงปอดไว้ก่อน สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าเหนื่อยหรือไม่ ให้ลองเดินไป-มาสักพัก ลุกยืนจากท่านั่งแล้วรู้สึกเหนื่อย หรือกลั้นหายใจสัก 10 – 15 วินาที ถ้าทำแล้วเหนื่อย นั่นแสดงว่าเหนื่อยจริง หากใครมีเครื่องวัดออกซิเจนที่วัดปลายนิ้ว หรือสมาร์ทวอทช์ก็สามารถใช้ได้ โดยคนปกติจะมีค่าออกซิเจนประมาณ 97-100% แต่ถ้าคุณวัดได้ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94% ก็อาจเป็นไปได้ว่าโควิดลงปอดแล้วเช่นกัน มาดูวิธีเมื่อรู้สึกว่าโควิดลงปอดแต่นอนรอเตียงอยู่ที่บ้านต้องทำยังไงบ้าง

  • เมื่อรู้สึกเหนื่อย ให้พยายามอยู่เฉยๆ และนอนคว่ำ เพราะการนอนหงาย ทำให้น้ำหนักตัวและหัวใจกดทับปอดที่อยู่ส่วนด้านหลัง การนอนคว่ำจะช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น วิธีการนอนคว่ำ คือนำหมอนมากอดแล้วนอนคว่ำทับลงไปบนหมอน โดยหันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง 

 

  • ให้นอนตะแคงหากนอนคว่ำไม่ได้ เพราะอาจมีอาการปวดหลัง หรือตั้งครรภ์อยู่ก็ให้นอนตะแคง โดยนอนตะแคงประมาณ 45 องศา ดีกว่านอนตะแคงแบบแนวตรงเลย สำหรับคนท้องให้นอนตะแคงเอาด้านซ้ายลง เพื่อเลี่ยงการนอนทับเส้นเลือดดำใหญ่ที่อยู่ด้านขวา 

 

  • เมื่อนอนคว่ำนานๆ ให้พยายามขยับขาบ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด โดยการเหยียดขาให้สุดและขยับขาเข้าแล้วเหยียดออก ทำซ้ำๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียน 

 

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยดื่มน้ำประมาณ 2 – 2.5 ลิตรต่อวัน โดยทยอยดื่มเรื่อยๆหรือจิบบ่อยๆ ไม่จำเป็นต้องดื่มครั้งละมากๆ อย่าดื่มน้ำมากเกินไปเพราะจะทำให้สูญเสียเกลือแร่ในร่างกายไปกับปัสสาวะอาจทำให้เกิดอาการชักได้ หรือดื่มน้อยเกินไปก็จะทำให้เพลียและหน้ามืดได้ 

 

  • ถ้าในกรณีทานอาหารไม่ค่อยได้หรือไม่ได้เลย ให้ทานเกลือแร่ แบบผงเกลือแร่ที่ทานเวลาท้องเสีย น้ำเกลือแร่ที่ดื่มเมื่อเสียงเหงื่อเวลาออกกำลังกาย หากไม่มีเกลือแร่ ให้ใช้น้ำตาลและเกลือที่มีอยู่แล้วในบ้านผสมกับน้ำเปล่า ให้พอออกรสกร่อยๆ ไม่ต้องถึงกับให้ออกรสเค็มมาก ก็สามารถใช้แทนน้ำเกลือแร่ได้ 

 

  • หากคุณมียาประจำตัว จะต้องทานยาอย่าได้ขาด แต่มียาอยู่ 3 กลุ่มที่อาจต้องทำการปรึกษาแพทย์ ยากลุ่มแรกคือ ยาขับปัสสาวะ หากคุณทานยากลุ่มนี้อยู่ แล้วคุณดื่มน้ำแทบไม่ได้เลย อาจต้องทำการปรึกษาแพทย์ในเรื่องการลดปริมาณการทานยา ยากลุ่มที่สองคือ ยาลดความดันโลหิตสูง ถ้าคุณมีความดันโลหิตสูง ควรวัดความดันสม่ำเสมอ เพื่อเช็คระดับความดัน พยายามอย่าให้ความดันต่ำ ถ้าต่ำ เช่น  60/90 ควรงดยา เพราะอาจจะเกิดอาการหน้ามืดหรือช็อคได้ และกลุ่มยาเบาหวาน กรณีที่เป็นเบาหวานควรตรวจน้ำตาลบ่อยๆ หรือ 4 เวลา เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอนได้ยิ่งดี ถ้าน้ำตาลต่ำก็ควรงดอินซูลิน หรือถ้าทานยากลุ่มลดน้ำตาลก็อาจต้องลดหรืองดยา แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำการปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาอยู่ เพื่อความปลอดภัย 

  • พยายามอย่าเข้าห้องน้ำหากมีความรู้สึกเหนื่อยมากๆ เพราะการลุก-นั่ง การเบ่งถ่ายจะทำให้ความดันในทรวงอกของเราเพิ่มขึ้น และจะไปลดปริมาณเลือดที่เข้าสู่หัวใจ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมอง และอวัยวะอื่นๆไม่เพียงพอ อาจทำให้เป็นลมหมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้นได้ ดังนั้นควรมีกระโถน หรืออะไรที่พอหาได้ไว้ข้างๆเตียงแทน หรือถ้าคุณมีอาการท้องผูก ควรรับประทานยาระบายอ่อนๆ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องทำการเบ่ง และถ้าเข้าห้องน้ำก็ห้ามล็อคประตูเด็ดขาด เผื่อกรณีฉุกเฉิน จะได้ทำการช่วยเหลือได้ทัน 

  • เตรียมยาพาราเซตามอล ไทลินอล ไว้ทานเวลามีไข้ อย่าทานยากลุ่มอื่น โดยเฉพาะยากลุ่ม NSAID ได้แก่ ibuprofen , naproxen , mefenamic acid (ponstan) , diclofenac (voltaren) เพราะเสี่ยงในการทำให้ไตวายได้ หากต้องการทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจร หรือกระชายขาว สามารถทานได้แต่ต้องในปริมาณที่กำหนดบนฉลากที่ระบุไว้ อย่าทานเกินเพราะอาจมีผลต่อสุขภาพส่วนบุคคลได้ 

 

  • กรณีแยกกักตัวออกมาหมั่นติดต่อกับครอบครัว ญาติ เพื่อนๆ ผ่านช่องทางโทรศัพท์ หรือโซเซียล เพื่อแจ้งอาการสม่ำเสมอ อย่าทิ้งหรือขาดการติดต่อ เพื่อที่ในกรณีคุณไม่ไหวจนอาจเป็นลมและหายไปผิดปกติ พวกเขาจะได้รีบทำการแจ้งเจ้าหน้าที่และช่วยเหลือได้ทัน

นี่ก็เป็นวิธีเบื้องต้นสำหรับผู้ที่แน่ใจแล้วว่าติดโควิด19 และเชื้อลงปอดแล้ว แต่ไม่มีเตียงรักษา ต้องทำการรอเตียงและทำการกักตัวอยู่ที่บ้าน ให้ใช้วิธีที่คุณหมอได้แนะนำไว้ระหว่างนี้ก็ถือว่าไม่เสียหาย เพราะวิธีไหนที่เป็นการดูแลตัวเองได้ ก็ทำเพื่อเป็นการดูแลตัวเองให้มากที่สุดในทุกทาง