การปล่อยวาง … ได้ยินกันบ่อย แต่ทำได้จริงไหม? 

การปล่อยวาง คือ การปล่อยวางไม่ยึดติดในสิ่งทั้งปวง ไม่ยึดติดว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เพราะทุกอย่างในโลกนี้นั้นล้วนไม่เที่ยง ไม่มีความแน่นอน ดังนั้นจึงมีความคาดหวังได้ แต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ก็ไม่ต้องไปยึดติด ทำใจสงบปล่อยวางให้มันเป็นไป ตามที่มันควรจะเป็น เพราะการยึดติดมาก ถือมั่นเกินไป เมื่อเกิดความผิดพลาด ไม่เป็นไปตามหวัง ก็จะทำให้ทุกข์มาก 

แน่นอนว่าเมื่อเราทำสิ่งใด ก็ย่อมต้องมีเป้าหมาย และคาดหวังจะได้รับผลสำเร็จ และเครื่องมือที่จะช่วยให้เราทำสำเร็จได้ตามในทางพระพุทธศาสนาก็คือ อิทธิบาท 4 ที่เราพึงนำมาปฏิบัติเพื่อให้กิจการงานนั้นๆบรรลุผล โดยพยายามทำให้ดีที่สุดเสียก่อน แต่ถ้าผลไม่เป็นอันสำเร็จ หรือเกิดความผิดพลาด ก็ไม่ต้องไปยึดติดมาก ทำให้จมอยู่แต่กับความทุกข์ ให้มองเป็นสัจธรรม แล้วหาจุดผิดพลาด แลtจำไว้เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นในครั้งหน้า นี่จึงจะเป็นการปล่อยวาง 

ในหลายๆอย่างหลายๆเหตุการณ์ ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้รู้สึกปล่อยวางได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ ผู้ที่ไม่เคยฝึกอบรมจิตใจ หรือไม่ใช่ผู้ปฎิบัติธรรม ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มากไปด้วยองค์ประกอบแห่งวัตถุกิเลส การแข่งขัน และการไม่รู้จักพอ ทำให้หลงในความอยากได้อยากมี และหลงยึดมั่นถือมั่น เมื่อเกิดความผิดพลาดหรือไม่เป็นดังหวัง ก็เป็นทุกข์ ยิ่งหวังมากยึดติดมาก ก็ยิ่งทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ยึดหลัก มัชฌิมาปฏิปทา เดินทางสายกลาง ไม่น้อยไปไม่มากไป 

ปล่อยวางและการละเลย มีความหมายที่แตกต่างกันมาก แต่ก็มักมีหลายคนสับสนและใช้ผิดกันบ่อยครั้ง โดยคิดว่าปล่อยวางคือการไม่สนใจในสิ่งใด ไม่มีความพยายามที่จะลงมือทำดูก่อน สักแต่จะคิดว่าอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เช่น รู้ว่าการบ้านนี้จะต้องส่งครูพรุ่งนี้ เป็นวิชาที่ยากและไม่เข้าใจในเนื้อหา จึงไม่สนใจคิดที่จะลองพยายามทำดูก่อนว่าทำได้หรือไม่ แต่กลับคิดว่าช่างมันเถอะ เราทำไม่ได้ จะโดนครูดุหรือครูตีก็ไม่เป็นไร แบบนี้เป็นการละเลยไม่ใช่ปล่อยวาง 

หรือมีการเตือนจากกรมอุตุฯ ว่าจะมีฝนตกหนัก และอาจเกิดน้ำท่วมได้ แต่ก็ไม่มีการป้องกันใดๆ ไม่มีการลอกคูคลองเพื่อรองรับ ไม่มีการตรวจสอบสถานที่ไว้ระบายน้ำ ไม่มีการเตรียมเก็บสิ่งของสำคัญไว้ที่สูง เพราะคิดว่ามันไม่มีทางท่วม หรือเป็นสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติ เราห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ หากมันจะเกิดก็ให้มันเกิด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือการประมาท ไม่ใช่การปล่อยวาง และเมื่อน้ำท่วม เกิดความเสียหาย ก็หาแต่สิ่งและคนให้กล่าวโทษ โดยไม่คิดโทษตัวเองที่ปล่อยปะละเลย และไม่มีการตระเตรียมในส่วนของตนที่ควรจะทำได้ 

ปล่อยวางภาษาอังกฤษ Let it be ก็จะคล้ายคำที่ว่า ช่างมันเถอะ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เพราะความไม่เที่ยง หรือความไม่แน่นอนนี้เป็นสิ่งสากล เป็น Uncertainty is certainty ที่เกิดขึ้นได้ทุกแห่งทั่วโลก อย่างไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น วัฒนธรรมและศาสนา ซึ่งในภาษาอังกฤษก็มีสำนวนที่ว่า Let yourself on แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะ Let it be ก็ยังมีคำว่า Just do it! นำหน้า พูดง่ายๆก็คือต้อง ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ก่อนที่จะวางเฉยแทนการกลัดกลุ้ม หากมัน unsatisfactory หรือแม้แต่ในเรื่องความสัมพันธ์ ที่จะต้องมีความพยายามปรับจูนนิสัยเข้าหากัน เพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้ไปกันได้อย่างยาวนาน แต่เมื่อต้องมีการเลิกรา ก็สามารถทำใจปล่อยวาง และ move on! 

แท้จริงแล้วการปล่อยวางนั้นทำได้ยาก อาจทำได้ช่วงขณะหนึ่ง หรือทำได้จนจบเรื่องนี้ แต่แล้วก็จะมีเรื่องใหม่มา ซึ่งมันก็เป็นปกติวัฏจักร ปล่อยวางพระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักปฏิบัติ เพื่อการละ ละทิ้ง ไม่ใช่เพื่อการสะสม ปล่อยวางทุกสิ่ง อย่ายึดติดกับความดีที่เคยทำ อย่าระลึกถึงความชั่วที่เคยสร้าง ละวางให้มันเป็นอดีต และอย่ากังวลที่จะสะสมเพื่ออนาคต แต่ให้มีสติอยู่กับปัจจุบันและทำให้ดีที่สุด 

แน่นอนเหมือนจะง่าย แต่ทำจริงๆนั้นทำได้ยากยิ่ง เหมือนคนที่แบกหินไว้บนบ่า แล้วใครสักคนเตือนให้โยนทิ้งมันไปเสีย เพื่อจะได้ไม่ต้องรู้สึกหนัก รวมถึงบอกข้อดีต่างๆนาๆ ถึงข้อดีในการที่ไม่ต้องแบกอะไรไว้ แต่สำหรับคนที่ยังมืดบอดก็จะไม่เข้าใจ และยังคงแบกหินนั้นไว้ต่อไป หรือเพราะกลัวว่าทิ้งไปแล้วจะไม่เหลืออะไรเลย จึงยังคงแบกไว้เรื่อยๆ จนวันหนึ่งที่รู้สึกมันหนัก จนทนแบกไม่ไหว จึงทำการทิ้งหินนั้นลงไปเสีย และความเบาสบายที่เกิดขึ้นทันทีทันใดนั้น มันเป็นปัจจัตตังที่สามารถรู้และเข้าใจได้ด้วยตนเอง ว่ามันเป็นความรู้สึกอย่างไร และเมื่อต้องไปแบกอะไรอีก ก็จะสามารถรู้วิธีปล่อยหินนั้นทิ้ง เพื่อให้หลุดพ้นจากความหนัก(ทุกข์)ได้ง่ายขึ้น 

ฝึกทำใจไม่ให้หลงในคำเยินยอ และไม่ไปทุกข์กับคำนินทา เพราะในโลกนี้ไม่มีใครไม่ถูกนินทา แม้แต่พระพุทธเจ้า ให้คิดเสียว่าคำนินทานั้นมาจากปากเขา เขานินทาอะไรก็อยู่ใกล้หูของเขา แต่หูของเราอยู่ไกลจากปากของเขา แล้วทำไมต้องนำหูของเราไปรับรู้ และนำมันมาแบกให้หนัก เป็นภาระกับความคิด และภาระชีวิตของเรา ก็ในเมื่อโลกนี้ไม่มีใครที่ไม่เคยถูกนินทา นั่นแสดงว่าเราก็ยังเป็นอีกหนึ่งชีวิตในโลกใบนี้ เมื่อไม่ยึดติดกับคำนินทาเหล่านั้น ใจเราก็โล่งสบาย 

ไม่หลงยึดติดว่านี่ของเรา นี่ตัวเรา … เป็นคำที่เราคุ้นเคย แต่จะมีใครสักกี่คนที่ทำได้จริง แต่ในความเป็นไปได้ ทำได้ด้วยการฝึกจากสิ่งเล็กๆน้อยๆ เริ่มจากสิ่งของทั้งหลายที่หลงยึดติดว่าเป็นของเรานี่แหล่ะ จริงอยู่ ว่าของที่หามาได้จากน้ำพักน้ำแรง เราย่อมต้องมีสิทธิ์ครอบครอง ในทางโลกนั่นใช่ทุกประการ หากได้มาด้วยกำลังของเราเอง แต่ในสัจธรรมแล้ว ไม่มีอะไรเป็นของเราได้จีรัง แต่เป็นของที่มาอยู่กับเราให้ชื่นชมชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อเราตายไป เราก็นำไปด้วยไม่ได้ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นของคนอื่นต่อไป แม้ตอนเรายังมีชีวิตอยู่ แต่สิ่งของก็ยังมีพังมีชำรุด รองเท้าคู่โปรดพัง หากเป็นของเราแน่แท้ เราห้ามมันพังได้ไหม ห้ามมันขาดได้ไหม … ร่างกายเราก็เช่นกัน หากเป็นของเราแน่แท้ เราต้องห้ามเจ็บ ห้ามป่วย ในร่างกายตัวเองได้ ใช่ไหม? 

อีกข้อธรรมที่สามารถฝึกให้ควบคู่กับการปล่อยวาง เป็นสิ่งข้อแรกๆที่ทำได้ง่าย คือจาคะ หรือการให้ เพื่อเป็นการรู้จักตัดใจ เช่น ยังรู้สึกชอบในเสื้อผ้าชุดนี้ แต่เสื้อผ้าก็ยังมีเต็มตู้ จึงตัดใจบริจาคให้คนที่ด้อยโอกาสกว่า เป็นการตัดใจจากความหวงแหนในสิ่งนั้น นี่ก็เป็นการละจากกิเลส ไม่ยึดติดกับสิ่งของ เป็นการปล่อยวางที่ใครหลายคนไม่คาดคิด หากเริ่มจากสิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ได้ และค่อยๆฝึกให้มากขึ้น จากที่คิดว่ามันทำได้ยาก ก็จะเริ่มเป็นความเคยชิน จนสามารถปล่อยวางได้มากขึ้นในที่สุด

ดังนั้นคำว่า “ปล่อยวาง” จะใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และไม่สามารถแก้ไขอะไรได้หลังจากพยายามสุดความสามารถ จึงปลงและปล่อยวางแทนการจมกับความทุกข์ ไม่ใช่ใช้ก่อนที่จะเกิดขึ้น เพราะนั่นคือความประมาท และขาดการใช้ปัญญา ปล่อยวางได้ใจเป็นสุข เพราะหลุดพ้นการยึดความทุกข์ไว้กับตนนั่นเอง