ฮีทโตรกคืออะไร 

ฮีทโตรก ภาษาอังกฤษเรียกว่า Heatstroke คือ โรคอันตรายที่มักพบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน หรือช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัด ซึ่งคนไทยมักจะเรียกว่า โรคลมแดด เนื่องจากอาการฮีทโตรกเกิดจากการที่อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน หรือท่ามกลางอากาศร้อนมากเกินไป ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบอวัยวะอื่น ๆ เช่น หัวใจ ไต สมอง หรือ กล้ามเนื้อ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่เกิดอาการฮีทโตรกจะไม่รู้ตัวล่วงหน้า ทำให้ได้รับการช่วยเหลือล่าช้าหรือช่วยเหลือไม่ทัน ทำให้ผู้ป่วยหลายรายเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากระบบอวัยวะในร่างกายหยุดทำงานเฉียบพลัน โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในสถานที่มีอากาศร้อนจัด หรือบริเวณที่มีความชื้นในอากาศสูง 

ฮีทโตรกมีกี่ประเภท 

  • Non-Exertional Heatstroke คือ ร่างกายมีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป เนื่องจากอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีอากาศร้อนจัดหรือบริเวณที่มีความชื้นสูงเป็นเวลานาน 
  • Exertional Heatstroke คือ ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากการทำงาน ทำกิจกรรม หรือ ออกกำลังกายอย่างหนักในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง ภาวะขาดน้ำ การสวมใส่เสื้อผ้าหนาเกินไปหรือเนื้อผ้าระบายความร้อนไม่ดี ผู้ที่ไม่คุ้นชินกับสภาพอากาศร้อน หรือแม้แต่การดื่มแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิผิดปกติ จนทำให้เกิดอาการฮีสโตรกได้  

 

อะไรคือสาเหตุทำให้เกิดฮีทโตรก 

  • อายุ เด็กหรือผู้สูงอายุถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง
  • โรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคสมอง โรคปอด โรคอ้วน รวมถึงผู้ไม่ค่อยออกกำลังกาย 
  • ยาบางชนิด การใช้ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อการควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย ทำให้สูญเสียน้ำ หรือมีผลข้างเคียงกับการตอบสนองต่ออุณหภูมิ เช่น ยาลดความดัน ยารักษาโรคหัวใจ ยากระตุ้นการขยายหรือหดตัวของหลอดเลือด ยาทางจิตเวช รวมถึงการใช้สารเสพติด 
  • สภาพอากาศ อากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน เช่น คลื่นความร้อน (Heat wave) หรือเดินทางไปสถานที่มีอากาศร้อนแล้วไม่คุ้นเคย ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน 

 

เมื่อเกิดฮีทโตรก อาการเป็นอย่างไร 

  • อุณหภูมิในร่างกายสูง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป 
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน 
  • ผิวหนังแดง แห้ง และร้อน 
  • กระวนกระวาย สับสน เพ้อ 
  • รู้สึกกระหายน้ำรุนแรง 
  • หัวใจเต้นเร็ว 
  • หน้ามืด ไม่รู้สึกตัว 
  • ชัก และอาจหมดสติ 

 

Heatstroke แตกต่างจาก Stroke ยังไง

Heatstroke ต่างจาก Stroke หลอดเลือดสมองตีบ/อุดตัน/แตก โดย Stroke คือ ภาวะฉุกเฉินของระบบประสาทที่เกิดจากหลอดสมองตีบ อุดตัน หรือ หลอดเลือดสมองแตก ทำให้เกิดอาการอ่อนแรง ชา ปากเบี้ยว พูดลำบาก หรือมีอาการทรงตัวผิดปกติเฉียบพลัน แม้จะเป็นภาวะที่เกิดเฉียบพลันและต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเช่นกัน แต่การวินิจฉัยและวิธีการรักษาแตกต่างจาก Heatstroke 

 

เมื่อมีอาการฮีทโตรก วิธีรักษาเบื้องต้นต้องทำอย่างไร  

สำหรับวิธีการรักษาเบื้องต้นในผู้มีอาการ Heatstroke คือ การลดอุณหภูมิในร่างกายของผู้ป่วย ก่อนเป็นอันดับแรก โดยมีขั้นตอนดังนี้ 

  • พาเข้าที่ร่ม บริเวณที่มีอากาศเย็นกว่า หรือในสถานที่มีเครื่องปรับอากาศ 
  • คลายเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายให้หลวม ถอดเครื่องประดับที่รัดแน่นเกินไปออก 
  • เรียกรถพยาบาลหรือรถฉุกเฉิน 
  • เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น หรือใช้ถุงน้ำแข็งวางบริเวณศีรษะ ลำคอ รักแร้ และขาหนีบ 
  • อาจนำผู้ป่วยลงแช่น้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้องในอ่างอาบน้ำ ระหว่างรอรถพยาบาล 
  • ห้ามให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล น้ำเย็น หรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ป่วย เพราะจะยิ่งไปขัดขวางการปรับอุณหภูมิในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้อาการยิ่งแย่ลงกว่าเดิม  และน้ำเย็นจะทำให้กระเพาะอาหารเกิดการหดเกร็ง 

Heatstroke ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง 

หากเกิดอาการฮีทโตรกและไม่ได้รับการรักษาทันท่วงนี้ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ยิ่งได้รับการรักษาช้ามากเท่าไร ยิ่งเสี่ยงต่อความรุนแรงและอันตรายของภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะสำคัญต่าง ๆ และอาจเสียชีวิตได้  

  • สมอง เซลล์สมองเสียหายถาวร สมองบวม และเกิดอาการชัก 
  • เลือด เกิดลิ่มเลือด ภาวะเลือดออกง่าย
  • หัวใจ หัวทำงานหนักขึ้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย 
  • ตับ เลือดไปเลี้ยงตับน้อยลง สูญเสียน้ำ ตับวาย 
  • ไต ภาวะไตวายเฉียบพลัน
  • ปอด ระบบการฟอกเลือดทำงานผิดปกติ วิกฤติการหายใจ 
  • กล้ามเนื้อ ภาวะกล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis)

 

ป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดฮีทโตรก

  • สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะกับสภาพอากาศ หากอยู่ในพื้นที่มีอากาศร้อน ควรเลือกสวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี 
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน หรือพกพาน้ำดื่มติดตัวในวันที่มีอุณหภูมิสูง หรือเมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่มีสภาพภูมิอากาศร้อน 
  • ปกป้องตัวเองจากความร้อนและแสงแดดด้วยเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กันแดด เช่น หมวก แว่นกันแดด ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป เป็นต้น 
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแดดหรือในสถานที่มีอุณหภูมิสูง รวมถึงสถานที่ปิด หรือบริเวณที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือควรใช้เวลาให้น้อยที่สุดหากจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ดังกล่าว 
  • กรณีที่ต้องมีการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงหรือผลกระทบต่ออุณหภูมิ