โรคซึมเศร้า…เราได้ยินกันมาพักใหญ่แล้ว และนับวันก็มีคนเป็นโรคนี้กันมากขึ้นในทุกช่วงวัย มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรม ข่าวการฆ่าตัวตายที่เกี่ยวโยงมาจากการเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น เราจึงควรตระหนักว่า โรคนี้อยู่ใกล้ตัวมาก เราอาจไม่รู้ตัวว่าป่วย หรือคนรอบข้างเรากำลังเป็นโรคซึมเศร้าอยู่
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ยิ่งทำให้มีอัตราผู้ป่วยโรคซีมเศร้ามากขึ้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการตกงาน การถูกปิดสถานกิจการ ความหวาดกลัวจากโรคระบาด เด็กขาดปฏิสัมพันธ์และสังคม หรือแม้แต่จากการถูกบูลลี่ ที่เป็นสาเหตุให้ดารา ศิลปินหลายคนตัดสินใจลาจากโลกนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
โรคซึมเศร้าคืออะไร
โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสมองที่มีผลต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม ซึ่งโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด ได้แก่ โดปามีน ชีโรโตนิน และ นอร์เอปิเนฟริน ซึ่งต้องได้รับการบำบัดจากจิตแพทย์ควบคู่กับการใช้ยารักษา
การทำร้ายตนเองของผู้มีอาการซึมเศร้า ไม่ได้เกิดจากการเรียกร้องความสนใจ แต่มันเป็นเพราะอาการป่วย ที่ทำให้พวกเขามองสิ่งต่างๆรอบตัวในทางลบเกินความเป็นจริง ส่งผลให้เกิดความคิดและพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งบางครั้งอาจไม่ได้เจตนาจะทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต แต่อาจทำไปเพื่อ….
- เพื่อจัดการอารมณ์ของตนเองที่หาทางออกไม่ได้
- เพื่อหลีกหนีความคิดในทางลบของตัวเอง
- เพื่อเป็นการระบายออกของอารมณ์เศร้าของตนเอง
- เพื่อเป็นการระบายอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจที่เกิดจากจากการมองลบต่อสิ่งรอบตัว
- เพื่อเป็นการควบคุมอารมณ์ตนเองจากความโกรธ
- เพื่อเป็นการลงโทษตนเอง
ประเภทของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้ามีหลายประเภท พฤติกรรมของผู้ป่วยก็จะแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- โรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่น (Major Depression) ผู้ป่วยจะมีความเศร้าซึม ไม่สนใจในสิ่งรอบตัว น้ำหนักลงหรือขึ้นอย่างรวดเร็ว เหนื่อยง่าย อ่อนแรง เพลีย รู้สึกว่าตนไร้ค่า อาจมีภาวะหูแว่ว ประสาทหลอนได้ จึงควรทำการรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายที่อาจเกิดขึ้นได้
- โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย ดีเพรสชั่น (Dysthymia Depression) ผู้ป่วยจะไม่มีอาการรุนแรงแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่น เพียงแค่อาจทานได้น้อยลงหรือมากขึ้นผิดปกติ นอนไม่ค่อยหลับ หรืออาจต้องการนอนมากเกินไป ไม่ค่อยมีสมาธิ เหนื่อยล้า อ่อนแรง รู้สึกหมดหวัง การตัดสินใจแย่ลง ขาดความมั่นใจในตัวเอง
จะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า
- ไม่ทำกิจกรรมต่างๆเหมือนเคย
- ปลีกวิเวก หลีกหนีสังคม ชอบขังตัวเองอยู่คนเดียว
- หงุดหงิดง่าย เบื่อง่าย ร้องไห้ง่ายขึ้น
- ไม่ร่าเริง ดูเศร้าตลอดเวลา
- ไม่มีสมาธิ หรือมีปัญหาในการตัดสินใจ
- ไม่สนใจในการทำงาน ส่งงานที่ได้รับมอบหมาย ขาดงานบ่อยขึ้น
- นอนหลับยากขึ้น หรืออาจนอนมากเกินไป
- มีอาการเหม่อลอย ดูครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา
- มีปัญหาทะเลาะกับคนในครอบครัว และคนรอบข้างบ่อยขึ้น
- ทานน้อยลงจนแทบจะไม่ทานอะไรเลย หรือทานมากกว่าปกติ
- ร่างกายซูบผอม อ่อนแรง หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- รู้สึกไร้ค่า หรือโทษตัวเองทุกเรื่อง
- คิดถึงแต่เรื่องความตาย พูดบ่นแต่เรื่องความตายหรืออยากตายบ่อยๆ
เราควรทำอย่างไรหากคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้า
- ทำความเข้าใจว่าเขาเป็นผู้ป่วย ไม่ได้แกล้งทำหรือเรียกร้องความสนใจ
- คอยรับฟังและให้กำลังใจ ปลอบโยน แสดงออกถึงความห่วงใย โอบกอด
- ให้คำปรึกษาหากเขาต้องการ แต่อย่าบังคับหรือกดดันให้เขาทำตาม
- ชวยทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ช่วยให้ผ่อนคลาย
- หากทำทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีผลกระทบที่ไม่สามารถรับมือได้ ให้พาพบและปรึกษาจิตแพทย์
รักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างไร
การรักษาโรคซึมเศร้าประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่
- การรักษาด้วยยา เนื่องจากโรคซึมเศร้าเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมอง ดังนั้นจึงต้องใช้ยาเพื่อทำการรักษาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมี การทานยา เมื่อรู้สึกอาการดีขึ้นแล้วก็ควรทานต่อนเนื่องไปอีก 6-12 เดือน เพื่อป้องกันอาการกำเริบหรือกลับมาเป็นซ้ำอีก
- การรักษาทางจิตใจ ซึ่งอาจทำได้ด้วยการปรึกษาจิตแพทย์ โดยรักษาเพื่อ
2.1 เพื่อปรับความคิดและพฤติกรรม เพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีแนวคิดกับสิ่งรอบข้างหรือกับตนเองในแง่ลบมากกว่าความเป็นจริง
2.2 เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และสิ่งรอบตัวให้ดีขึ้น
2.3 การรักษาเชิงลึก เพื่อให้ผู้ป่วยรู้ปมขัดแย้งในใจ และทำความเข้าใจตนเองมากขึ้น
เห็นได้ว่าโรคซึมเศร้าเป็นสิ่งใกล้ตัวมากๆ และสามารถเป็นได้ทุกคน โดยอาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ดังนั้นการสังเกตคนใกล้ชิดและให้ความใส่ใจ เพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงทีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อลดความเสี่ยงการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต