ใครได้ดูหรือได้ยินข่าวที่หลายๆประเทศเริ่มให้คนทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เหมือน ประเทศไอซ์แลนด์ สเปน และนิวซีแลนด์ แล้วบ้าง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น…นั่นก็เพราะจากการทดลองในหลายๆประเทศได้ข้อสรุปตรง กันแล้วว่า การทำงานเพียง 4 วัน / สัปดาห์ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีกว่าทำงาน 5 วันได้จริง 

จากโครงการ Work-Life Choice Challenge 2019 Summer ที่เป็นโปรแกรมทาง Microsoft Japan ในประเทศญี่ปุ่นได้ทำการทดลองให้พนักงาน 2,300 คน เลือกรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ของงานและกิจวัตรประจำวันได้ โดยเป้าหมายโปรแกรมนี้คือการทดสอบว่า ถ้าใช้เวลาในการทำงานน้อยลงจะส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร

วิธีการก็คือให้พนักงานทั้งหมด 2,300 คน ทำงาน 4 วัน / สัปดาห์ โดยได้รับค่าจ้างครบปกติ ไม่มีการหักเงินเดือนทั้งสิ้น 

 

ผลจากการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เพราะพบว่าพนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 40% เลยทีเดียว เมื่อเทียบกับสถิติในเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา อีกทั้งตัวเลขการประชุมที่ใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาทีก็เพิ่มขึ้นถึง 46% การประชุมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 21% และมีพนักงานลาหยุดในเดือนนั้นลดลง 25% ไม่เพียงแค่ตัวเลขของพนักงานที่ดีขึ้น แต่ตัวเลขในด้านต้นทุนของบริษัทก็ดีขึ้นเช่นกัน เพราะค่าไฟลดลง 23% จำนวนกระดาษที่ต้องใช้ด้านเอกสารต่างๆก็ลดลงถึง 59% 

จากการสำรวจและสอบถามพนักงานที่ได้เข้าร่วมการทดลองในครั้งนี้พบว่า พนักงานมีความพึงพอใจมากถึง 92.1% และยังแสดงความคิดเห็นอีกว่า ชอบในระบบและรูปแบบการทำงานนี้มาก เพราะทำให้พวกเขามีเวลากับครอบครัวมากขึ้น มีเวลาส่วนตัวและสามารถพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมทำงานหนัก แม้จะทำงานล่วงเวลาไปมากแค่ไหนแต่ก็ไม่มีค่าตอบแทน และมักจะได้ยินข่าวพนักงานเครียดจากการทำงานจนเป็นเหตุให้ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นทุกปี โครงการนี้จึงเป็นที่ได้รับความสนใจและพึงพอใจกับพนักงานเป็นอย่างมาก

 

นอกจากนี้ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยแซนฟอร์ดยังเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “ประสิทธิภาพการทำงาน & เวลางาน” มีความเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน เนื่องจากพนักงานได้มีเวลากับครอบครัว ได้ใช้วันหยุดกับคนรัก ได้ทำกิจกรรมโปรดหรือธุระส่วนตัวที่ปกติวันหยุดสุดสัปดาห์อาจทำไม่ได้

 

พนักงานที่ทำงานหนักเกินไปนั้นจะมีประสิทธิภาพการทำงานที่น้อยกว่าพนักงานในเวลางานที่กำหนด เพราะพนักงานมีเวลาพักผ่อนหรือมีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น เมื่อร่างกายและจิตใจได้รับการพักผ่อน ทำให้ความเครียดลดน้อยลง มีความสุขเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พนักงานมีสมาธิในการโฟกัสกับงานมากขึ้นและทำงานได้ดีขึ้นนั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อลดเวลาการทำงานเหลือเพียง 4 วัน ยังส่งผลให้พนักงานมีอัตราลาป่วย ลากิจน้อยลง เนื่องจากพนักงานได้มีเวลาในการพักฟื้นสมองและร่างกายจากความเครียดในการทำงาน ร่างกายเมื่อได้มีเวลาพักฟื้นเพียงพอก็ลดการเจ็บป่วยลง ทำให้เมื่อพนักงานกลับมาเริ่มต้นสัปดาห์การทำงานก็มีความพร้อมที่จะทำงานมากกว่าเดิม 

 

ข้อดีอื่นๆในการลดวันทำงานก็คือ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย เพราะคนลดการใช้รถยนต์ไปอีก 1 วัน ทำให้ลดมลภาวะเป็นพิษจากยานยนต์ ลดการสั่งอาหาร Delivery น้อยลง เพราะมีเวลาในการไปเลือกซื้อของสดและทำอาหารทานเองที่บ้านมากขึ้น ช่วยลดการใช้พลาสติกไปได้ในจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นอีกข้อที่ดีมากในการลดวันทำงาน 

 

ด้วยเหตุนี้เอง ซานน่า มาริน (Sanna Marin) นายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลกของฟินแลนด์ ได้สนับสนุนการใช้นโยบายลดเวลาทำงาน 4 วัน / สัปดาห์ และ 6 ชั่วโมง / วัน รวมเวลาทำงานเป็น 24 ชั่วโมง / สัปดาห์ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้ประชาชนได้มีเวลาให้กับครอบครัว คนรัก และสิ่งอื่นๆ ที่นอกเหนือจากงานมากขึ้น 

ฟินแลนด์ ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ให้คุณค่ากับคุณภาพชีวิตของคนทำงานเป็นอย่างมาก มีกฏหมายคุ้มครองสิทธิ์แรงงานที่สามารถยืดหยุ่นชั่วโมงการทำงานได้ตามความจำเป็นของบุคคล เช่น เข้าทำงานเช้า-ออกงานสาย เข้าทำงานบ่าย-ออกงานค่ำ แค่ขอให้มีชั่วโมงการทำงานครบตามกำหนด มีผลงานโดยไม่ขาดตกบกพร่อง อยู่บนพื้นฐานความมีวินัยและความรับผิดชอบในหน้าที่ตนเองสูง เข้าใจตรงกันว่าเมื่อเวลาทำงานก็ทำงานเต็ม100% 

 

ซึ่ง Sanna ไม่ได้เป็นนักการเมืองคนแรกของโลกที่มีแนวคิดปรับเวลาการทำงาน แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “สวีเดน” เคยมีการปรับเวลาการทำงานเป็นวันละ 6 ชั่วโมง / วัน มาแล้ว ทำให้พบว่านอกจากพนักงานมีความสุขมากขึ้นทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว พนักงานยังมีเงินเก็บมากขึ้นเนื่องมาจากการที่มีความสุขมากขึ้น ทำให้การจ่ายเงินเพื่อปรนเปรอตัวเองลดลงไปโดยปริยาย หรืออย่าง “ประเทศฝรั่งเศส” ก็ได้มีการปรับลดเวลาทำงานจาก 39 ชั่วโมง เป็น 35 ชั่วโมง เมื่อในปี 2000  ผลจากการลดเวลาการทำงานลงทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้นและงานก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน 

แต่ถึงแม้ว่าการทำงาน 4 วัน / สัปดาห์ จะมีประโยชน์ต่อพนักงานและส่งผลดีต่อองค์กรณ์อย่างมาก เพราะพนักงานมีความเครียดที่น้อยลง มีความสุขมากขึ้น และองค์กรณ์ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ตาม แต่อย่างที่เราๆทราบกันดีว่า การทำงาน 4 วันนั้นยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างทั่วโลก เพราะยังคงเคยชินกับระบบการทำงาน 5 วันโดยเฉลี่ยมาเป็นเวลานาน นั่นจึงหมายความว่า ไม่ใช่ทุกบริษัทจะทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เหมือนกันหมด โดยเฉพาะงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือบริษัทอื่นๆที่ยังทำงานกันแบบปกติ 5 วัน / สัปดาห์ 

 

สำหรับประเทศไทย… ใครมีความคิดเห็นอย่างไรหากประเทศไทยจะมีการนำร่องระบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ และองค์กรไหนกันนะที่จะนำร่องใช้ระบบนี้กับหน่วยของตน คงต้องติดตามต่อไป