สมอง ทำหน้าที่ปรับสภาพการทำงานของระบบประสาท และควบคุมให้ทำงานเป็นปกติ เช่น ความคิด การแสดงอารมณ์ ความจำ การเคลื่อนไหว และกระบวนการอื่น ๆ ภายในร่างกาย การดูแลร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง รวมทั้งการทานอาหารที่มีวิตามินและสารอาหารที่ช่วยบำรุงสมอง เป็นสิ่งสำคัญต่อระบบการทำงานของอวัยวะทุกส่วนภายในร่างกาย 

 

วิตามินบำรุงสมองช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท เพิ่มความคิดความจำ มีสมาธิ สมองแล่น ไม่เบลอ ไม่เสื่อมถอย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในทุกวัย ตั้งแต่วัยที่กำลังมีพัฒนาการ วัยเรียน วัยทำงาน ไปจนถถึงผู้สูงอายุ  วิตามินบำรุงสมองได้จากการรับประทานอาหารหลักประจำวัน และการทานอาหารเสริม 

วิตามินบำรุงสมองคืออะไร 

วิตามินบำรุงสมอง คือ สารอาหารที่สกัดไว้เป็นตัวช่วยในการบำรุงสมอง ซึ่งสกัดมากจากสารอาหารหลากหลาย ล้วนแต่เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง ช่วยบำรุง สนับสนุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ชะลอและลดการเสื่อมถอยของสมอง ช่วยยืดอายุสมองให้สามารถใช้งานได้อย่างมีคุณภาพยาวนาน 

 

สารอาหารอะไรบ้างที่สมองต้องการ 

โดยปกติ เราสามารถได้รับวิตามินบำรุงสมองจากการทานอาหารที่มีสารอาหารดีต่อสุขภาพและสมองในปริมาณที่เหมาะสม และอาจทานอาหารเสริมหากไม่แน่ใจว่าได้รับสารอาหารเพียงพอในแต่ละวัน  วิตามินบำรุงสมองที่ควรได้รับในแต่ละวัน มีดังนี้ 

 

  1. วิตามิน A 

วิตามิน A เป็นวิตามินบำรุงสมองและสายตา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น บำรุงผิวพรรณ และช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ถูกจัดว่าเป็นโปรวิตามินเอ (Provitamin A) เป็นสารที่ร่างกายสามารถแปลงไปเป็นวิตามินเอได้ อย่างเบต้าแคโรทีน สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ประสาทในสมอง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท ในส่วนของการรับรู้และความทรงจำ ลดความเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน 

เบต้าแคโรทีนพบมากในผัก ผลไม้ สีส้ม แดง และ เหลือง เช่น แครอท แคนตาลูป มะเขือเทศ พริกหวานสีแด พริกหวานสีเหลือง ฟักทอง มันหวาน นอกจากนี้ ยังพบเบต้าแคโรทีนในผักใบเขียวบางชนิด เช่น ตำลึง เคล และ ปวยเล้ง เป็นต้น 

ข้อควรระวังในการรับประทานวิตามิน A : หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรทานอาหารเสริม วิตามินเอ เพราะหากได้รับวิตามินเอมากเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ 

 

  1. วิตามิน B 

วิตามินบำรุงประสาทและสมองที่มีส่วนช่วยในการเผาผลาญโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) ที่เกิดจากการย่อยสลายของอาหารประเภทโปรตีน ได้แก่ วิตามิน B6 , วิตามิน B9 และ วิตามิน B12 เพราะหากร่างกายมีสาร Homocysteine สะสมในร่างกายมากเกินไป จะส่งผลต่อระบบหลอดเลือดสมองเกิดความเสียหายได้ นำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ได้ 

นอกจากนี้ วิตามินบี 6 เป็นสารที่จำเป็นต่อการสร้างสื่อประสาท ปรับให้มีความสมดุลทางอารมณ์ เช่น โดปามีน (Dopamine) เซโรทานิน (Serotonin) และ กรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (Gamma-Aminobutyric acid : GABA) ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ โดยแหล่งวิตามินบี ได้แก่ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว ผักใบเขียว ปลา อาหารทะเล เนื้อไก่ เนื้อหมู เครื่องในสัตว์ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะได้รับวิตามินบีเพียงพอจากการรับประทานอาหาร แต่สำหรับผู้ที่ขาดวิตามินบี เสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้ง่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 

วิตามินบีเป็นวิตามินบำรุงสมองวัยคนทำงาน และยังจำเป็นต่อหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะขาดวิตามินบีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ควรซื้ออาหารเสริมมารับประทานเอง เพื่อช่วยรักษาโรคสมอง หากไม่ได้รับคำแนะนำหรืออยู่ภายใต้การสั่งจ่ายยาจากแพทย์ 

 

 

  1. วิตามิน C 

วิตามินซี เป็นวิตามินบำรุงสมองที่มีส่วนในการสังเคราะห์สารสื่อประสาทในสมอง และช่วยปรับสมดุลการปล่อยสารสื่อประสาทในเซลล์ประสาท นอกจากนี้ วิตามินซีมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายของสมอง ชะลอความเสื่อมถอยของกระบวนการความคิดและความทรงจำ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้สมองในการทำงาน ถือว่าเป็นวิตามินบำรุงสมองสำหรับคนทำงานหนัก เป็นตัวช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โรคพาร์กินสัน และ โรคทางจิต เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) โรควิตกกังวล และ โรคซึมเศร้า 

สามารถพบวิตามินซีได้มากในผลไม้ และ ผักหลายชนิด เช่น ส้ม ตระกูลเบอร์รี่ แคนตาลูป สับปะรด ฝรั่ง แอปเปิลเขียว มะขามป้อม มะเขือเทศ บรอกโคลี คะน้า กำหล่ำดาว เป็นต้น 

  1. วิตามิน E 

วิตามินอี เป็นวิตามินบำรุงสมองที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนในการช่วยป้องกันและชะลอความเสื่อมของระบบความคิด ความเข้าใจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระดับต้นที่รับประทานวิตามินอีในปริมาณที่มากพอสมควร จะช่วยชะลอการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์ได้ 

แต่อย่างไรก็ตาม การวิจัยได้มีการทดลอง ให้คนกลุ่มหนึ่งรับประทานอาหารเสริมวิตามินอี วันละ 1,300 มิลลิกรัม / วัน หรือ 2,000 IU (หน่วยสากล) ซึ่งการได้รับวิตามินอีในปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลกระทบในระยะยาว ทำให้เกิดภาวะเลือดออกที่อวัยวะต่าง ๆ ในผู้ป่วยหลอดเลือดและโรคหัวใจ รวมไปถึงผู้ที่มีการทานยาละลายลิ่มเลือดได้ ดังนั้น ในผู้ป่วยบางโรคควรระมัดระวังในการทานอาหารเสริมวิตามินอี และควรทำการปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อมาทานเอง 

สามารถพบวิตามินอีในอาหารจำพวก ถั่ว ธัญพืช ผักใบเขียว เช่น ถั่วลันเตา เมล็ดทานตะวัน เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ พิตาชิโอ้ บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง รวมถึงน้ำมันพืชต่าง ๆ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม การดูแลและบำรุงสมอง ไม่ได้มีเพียงแต่การเลือกทานอาหารและอาหารเสริมเท่านั้น แต่ยังสามารถทำได้โดย การพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ การพักสายตาจากการจ้องจอคอมพิมเตอร์ หรือมือถือนาน ๆ หลีกเลี่ยงจากปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำร้ายสมอง และหากต้องการรับประทานอาหารเสริมบำรุงสมอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อจะได้จะมีสุขภาพดีอย่างปลอดภัย ไร้ผลกระทบตามมาภายหลัง