สมอง คือ ส่วนอวัยวะสำคัญของร่างกายที่มีโครงสร้างซับซ้อน ทำหน้าที่ควบคุมและปรับสภาพการทำงานของระบบประสาทให้เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็น ความคิด การจดจำ การเคลื่อนไหว หรือการแสดงออกในทุกด้านของร่างกาย ดังนั้น หากสมองและระบบประสาทมีความผิดปกติเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะทุกส่วน และอาจก่อให้เกิดภาวะความจำเสื่อมหรือเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ เราจึงต้องใส่ใจในการดูแลและบำรุงสมองอยู่เสมอ โดยหนึ่งในวิธีการบำรุงสมอง คือ การรับประทานอาหารที่มีวิตามินและสารอาหารที่จำเป็นต่อการบำรุงสมองในปริมาณที่เหมาะสม แต่วิตามินมีหลากหลายชนิดด้วยกัน แล้ววิตามินอะไรที่ช่วยบำรุงสมอง อาหารแบบไหนที่มีวิตามินบำรุงสมองบ้าง เรามีคำตอบมาให้แล้วค่ะ
- วิตามินเอ (Vitamin A)
หลายคนรู้กันดีอยู่แล้วว่า วิตามิน A มีส่วนช่วยในการมองเห็น บำรุงผิวพรรณ เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่รู้ไหมว่า วิตามินเอ มีส่วนในการช่วยบำรุงสมองด้วย
สารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) หรือ สารที่คนส่วนใหญ่รู้จักอย่าง เบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จัดว่าเป็นโปรวิตามินเอ (Provitamin A) ที่ร่างกายสามารถแปลงให้เป็นวิตามินเอได้ โดยคุณประโยชน์ของสารกลุ่มนี้ช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ประสาทในสมอง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบความจำ จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคพาร์กินสัน และอันไซเมอร์
อาหารที่มีวิตามินเอ : เบต้าแคโรทีนพบมากในผักผลไม้สีเหลือง สีส้ม และ สีแดง เช่น ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ พริกหวานสีเหลือง พริกหวานสีแดง มันหวาน แคนตาลูป และ ผักใบเขียว อย่างผักเคล ตำลึง และปวยเล้ง
ปริมาณวิตามินเอที่ควรได้รับ / วัน : 600 – 700 ไมโครกรัม
- วิตามินบี (Vitamin B)
วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 และ วิตามินบี 12 มีส่วนในการช่วยเผาผลาญ Homocysteine หรือ โฮโมซิสเทอีน ซึ่งสารที่ย่อยมาจากอาหารประเภทโปรตีน หากมีการสะสมในร่างกายมากเกินไป จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดสมองได้ ส่งผลกระทบต่อระบบความทรงจำ จนนำไปสู่โรคสมองเสื่อม และโรคหลอดเลือดสมองได้
นอกจากนี้ วิตามินบี 6 ยังเป็นสารสำคัญต่อการสร้างสารสื่อประสาท เช่น โดปามีน (Dopamine) เซโรโทนิน (Serotonin) และ กรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก หรือ GABA (Gamma – Aminnobutyric Acid) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ช่วยปรับความสมดุลของอารมณ์ และเมื่อขาดวิตามินบีเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แต่ไม่ควรซื้อหารเสริมเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับสมองเอง เพราะคนทั่วไปสามารถรับวิตามิน B ได้อย่างเพียงพอจากการรับประทานอาหาร ส่วนการทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีวิตามินบีจำเป็นต่อผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่าขาดวิตามินบี และ หญิงตั้งครรภ์
อาหารที่มีวิตามินบี : ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว ผักใบเขียว เครื่องในสัตว์ เนื้อไก่ เนื้อหมู ปลา และ อาหารทะเล
- วิตามินซี (Vitamin C)
ส่วนใหญ่เราจะรู้จักบทบาทของ วิตามินซี เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่นอกเหนือไปกว่านั้น วิตามิน C ยังมีบทบาทสำคัญต่อการสังเคราะห์สื่อประสาทในสมอง และปรับสมดุลในการปล่อยสารสื่อประสาทระดับเซลล์ ด้วยคุณสมบัติวิตามินซีต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยป้องกันไม่ให้สารอนุมูลอิสระทำลายระบบประสาทและสมองจนเกิดความเสียหาย อีกทั้งยังช่วยชะลอความเสื่อมถอยของระบบความจำและทักษะทางความคิด ลดความเสี่ยงของการเกิดอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) และ โรคทางจิตต่าง ๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และ โรคจิตเภท (Schizophrenia)
อาหารที่มีวิตามินซี : วิตามินซีพบมากในผัก ผลไม้ เช่น ส้ม สับปะรด ฝรั่ง แอปเปิลเขียว แคนตาลูป สตรอว์เบอร์รี่ กะหล่ำดาว บร็อคโคลี มะเขือเทศ
- วิตามินอี (Vitamin E)
วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์ไม่ให้ถูกอนุมูลอิสระทำลายจนเกิดความเสียหาย ช่วยชะลอความเสื่อมของระบบประสาทที่ควบคุมความคิด หากร่างกายได้รับวิตามินอีในปริมาณที่เหมาะสม จะทำให้ห่างไกลจากโรคความจำเสื่อม หรือชะลอการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่ได้รับวิตามิน E มากพอ จะชะลอการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์ในระดับต้นไปจนถึงระดับกลาง รวมถึงในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ด้วยเช่นกัน
อาหารที่มีวิตามินอี : ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง ผักใบเขียว บร็อคโคลี หน่อไม้ฝรั่ง น้ำมันพืชต่าง ๆ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว และ น้ำมันดอกทานตะวัน
ปริมาณวิตามินอีที่ควรได้รับ / วัน : 11 – 13 มิลลิกรัม / วัน หากได้รับวิตามินอีในปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด และผู้ที่ต้องทานยาละลายลิ่มเลือด ได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินแล้ว ยังต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกาย ลดการดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงความเครียด จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความจำเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ได้เป็นอย่างดี