เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินคำว่า “อโหสิกรรม” บางคนอาจเข้าใจความหมายดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะ ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นประจำ แต่บางคนอาจเข้าใจความหมายได้ไม่ตลอด รู้แต่คำที่เขาพูดกัน และยังสับสนระหว่าง อโหสิกรรมคืออะไร ต่างจากการให้อโหสิกรรมยังไง ทำไปเพื่ออะไร และถ้าจะขออโหสิกรรมต้องทำยังไงบ้าง 

 

คำว่า “อโหสิกรรม” มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต 2 คำ รวมเข้าด้วยกัน ได้แก่ 

 

  1. อโหสิ แปลว่า “ได้มีแล้ว” มาจากภาษาบาลี หมายความว่า ได้ให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว 
  2. กรฺม แปลว่า “การกระทำ” มาจากภาษาสันสกฤต หมายความว่า การกระทำที่มีเจตนา 

 

เมื่อนำมารวมกัน อโหสิกรรม แปลว่า กรรมที่ไม่ส่งผลแก่ผู้กระทำกรรมอีกต่อไป 

 

อโหสิกรรม ต่างจากการขออโหสิกรรม และ การให้อโหสิกรรมอย่างไร 

 

  1. อโหสิกรรม คือ การเลิกยึดเหนี่ยวกรรมที่กระทำแล้วต่อกัน ไม่มีกรรมที่ส่งผลในภพชาติต่อ ๆ ไป 
  2. การขออโหสิกรรม คือ การขอโทษ ขอขมาในสิ่งที่ตนทำผิดต่อผู้อื่นไมว่าจะเป็นทางกาย วาจา และใจ  
  3. การให้อโหสิกรรม คือ การให้อภัยต่อผู้อื่นที่กระทำพลาดผิดพลั้งต่อตน ไม่ว่าจะด้วยทางกาย วาจา หรือใจ 

การขออโหสิกรรมซึ่งกันและกันดียังไง 

 

ตามหลักพระพุทธศาสนามีความเชื่อว่า การขออโหสิกรรมต่อกัน มีผลดีดังต่อไปนี้ 

 

  1. กรรมเบาบาง 

 

การกระทำ ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วที่มีเจตนาในการกระทำนั้น ย่อมได้รับผลกรรมตามสมควรแก่การกระทำของตนทั้งสิ้น หากเป็นกรรมดีย่อมได้รับผลกรรมดี แต่ถ้าเป็นกรรมชั่ว เช่น คดโกง หรือใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น ย่อมได้รับผลของกรรมชั่วสนอง หากแม้ไม่ได้รับกรรมในชาตินี้ กรรมก็จะติดตามไปส่งผลในชาติใดชาติหนึ่ง แต่ถ้าเป็นกรรมเบาบางเนื่องจากผู้กระทำได้ขออโหสิกรรม และผู้ถูกกระทำได้รับคำขอขมากรรมและยกโทษให้ ทำให้ความอาฆาต พยาบาท เวรกรรมคลายออกจากบ่วงกรรมที่ขมวดแน่นดั่งปมเชือก ทำให้เกิดความรักใคร่กัน อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เกิดความสุขในชาตินี้ และกรรมเบาบางลงหรือไมส่งผลในภพชาติต่อไป 

 

  1. อานิสงส์สูง 

 

เนื่องจากผู้ที่ให้อโหสิกรรม เป็นการให้อภัยทานที่เกิดจากความเมตตาในจิตใจ ตัดอัตตา ความเป็นตัวตน ละการยึดมั่นถือมั่นในตนเอง เป็นการเสียสละในการยกโทษให้แก่ผู้ที่พลั้งผิดต่อตน ช่วยให้เขาได้หลุดพ้นแห่งบ่วงกรรมของการจองเวร อันมีเราเป็นเจ้ากรรมนายเวร ช่วยให้เขาได้สามารถก้าวเข้าสู่อริยมรรคตามกำลังบารมีของผู้นั้นต่อไปได้ในอนาคต การให้อโหสิกรรม หรือให้อภัยทาน จึงมีอานิสงส์สูง ดั่งเช่น ธรรมทาน ได้รับความสุขสงบจากการปล่อยวาง ช่วยยกระดับตนเองให้ก้าวสู่มรรคผลนิพพานได้เร็วขึ้น 

 

วิธีการขออโหสิกรรม

 

  1. การอโหสิกรรมร่วมกัน 

 

การอโหสิกรรมร่วมกัน คือ ต่างฝ่ายต่างขออโหสิกรรมต่อกัน แสดงหรือเอ่ยให้รับรู้ มีการรับรู้ทั้งสองฝ่าย ยิ่งมีความบริสุทธิ์ใจในการขอโทษและการให้อภัยจากใจมากเท่าไร ก็ยิ่งช่วยให้ขาดจากเวรกรรมต่อกันได้อย่างเด็ดขาดเท่านั้น 

 

  1. การอาศัยสัจวาจาในการทำบุญร่วมกัน 

 

การอาศัยสัจวาจาในการทำบุญร่วมกัน คือ เมื่อทำบุญหรือสร้างกุศลใหญ่ร่วมกัน กล่าวสัจวาจาขออานิสงส์กุศลใหญ่ที่ทำร่วมกันนั้น ให้ช่วยล้างเวรกรรมต่อกัน ให้กุศลแห่งบุญเป็นพยานการไม่จองเวรสร้างกรรม และเลิกอาฆาตต่อกัน ก็จะช่วยให้รู้สึกได้ใจเบาโล่งสบาย หมดภัยหมดเวรต่อกันแล้ว 

 

คำกล่าวขออโหสิกรรม 

 

(สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี)

 

“กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง สัญจิจจะกัมมัง 

อะสัญจิจะกัมมัง ขะมันตุ เม อะโหสิกัมมัง ภะวะตุ เม”

 

กรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อโหสิกรรม ที่ข้าพเจ้าได้ทำล่วงเกินแก่ผู้ใด ทั้งโดยตั้งใจก็ดี ไม่ได้ตั้งใจก็ดี ในภพชาติใดก็ตาม ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงโปรดยกโทาให้เป็นอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้า อย่าได้จองเวรจองกรรมต่อกันอีกเลย แม้แต่กรรมใด ๆ ที่ผู้ใดทำแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขออโหสิกรรมให้ทั้งสิ้น ยกถวายพระพุทธเจ้าเป็นอภัยทาน ขอจงดลใจให้เขาเหล่านั้น กลับมีเมตตาจิต คิดเป็นมิตรกับข้าพเจ้า เพื่อได้ไม่มีเวรกรรมต่อกันอีกต่อไป 

 

ด้วยอานิสงส์แห่งอภัยทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าพร้อมทั้งครอบครัว ตลอดจนวงศาคณาญาติ ผู้มีอุปการคุณของข้าพเจ้า พ้นจากความทุกข์ยาก ลำบากเข็ญใจ ความทุกข์อย่าได้ใกล้ ความเจ็บอย่าได้มี ขอให้มีความสุขสวัสดีมีชัย เสนียดจัญไรและอุปัทวันตรายทั้งหลาย จงเสื่อมสิ้นหายไป นึกคิดปรารถนาสิ่งใดที่เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยธรรม ขอให้สิ่งนั้นจงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จทุกประการเทอญ นิพพานะปัจจะโย โหตุ.